bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันอาทิตย์ที่ ๓๐ ก.ย.๖๑ : ความเคลื่อนไหวของความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพจีนและกองทัพสหรัฐฯ

ความเคลื่อนไหวของความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพจีนและกองทัพสหรัฐฯ อันเป็นผลกระทบจากการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของจีน รวมทั้งความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดดภายในช่วงระยะเวลาเพียง ๔๐ ปีหลังจากการปฏิรูปและเปิดประเทศ จนมีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของจีนจะก้าวแซงหน้าสหรัฐฯ ขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่งของโลกภายใน ๑๒ ปีข้างหน้า ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. พันเอกอาวุโส เหริน กั๋วเฉียง (Senior Colonel Ren Guoqiang) โฆษกกระทรวงกลาโหมจีน กล่าวในการแถลงข่าวของกระทรวงกลาโหมจีน เมื่อวันที่ ๒๗ ก.ย.๖๑ เรียกร้องให้สหรัฐฯ ใช้ท่าทีที่มีสติ จริงใจ และใช้ปฏิบัติการอย่างจริงจังในการปรับปรุงและพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพสองประเทศ โดยพยายามร่วมมือกันสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกองสองทัพ เพื่อรักษาความมั่นคงของความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ นอกจากนี้ กองทัพจีนยังต่อต้านการกระทำที่เป็นการยั่วยุของกองทัพสหรัฐฯ ในน่านน้ำทะเลจีนใต้อย่างเด็ดขาด และจะใช้มาตรการที่จำเป็นเพื่อรับมือต่อเหตุการณ์ดังกล่าว โดยเฉพาะภายหลังจากที่สหรัฐฯ ประกาศคว่ำบาตรแผนพัฒนายุทโธปกรณ์ของคณะกรรมาธิการทหารกลางของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ทำให้กองทัพจีนได้เรียกตัวผู้บัญชาการกองทัพเรือจีนซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการเยือนสหรัฐฯ เดินทางกลับประเทศในทันที

๒. เหตุผลสำคัญที่อยู่เบื้องหลังของการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ รวมทั้งแนวคิดและรูปแบบพื้นฐานในการดำเนินนโยบายความมั่นคงโดยกองทัพของทั้งสองประเทศ
        ๒.๑ ในแง่มุมของจีน ได้ประเมินว่า ภายหลังยุคสงครามเย็น สหรัฐฯ ได้กลายเป็นอภิมหาอำนาจเพียงหนึ่งเดียว ดังนั้น นโยบายต่างประเทศของจีนจึงมุ่งเน้นการดำเนินความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ เป็นสำคัญ โดยมีเหตุผล ๓ ประการ กล่าวคือ
                ๒.๑.๑ สหรัฐฯ เป็นประเทศขนาดใหญ่ที่มีการพัฒนาและมีศักยภาพในการทำสงครามขนาดใหญ่ได้ ในขณะที่จีนต้องการรักษาสภาวะแวดล้อมให้มีความสงบเพื่อเร่งพัฒนาด้านเศรษฐกิจตามแผน
                ๒.๑.๒ ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างจีนกับสหรัฐฯ จะทำให้จีนบรรลุความทันสมัย เนื่องจากสหรัฐฯ เป็นตลาดการค้าที่มีความสำคัญรวมทั้งเป็นแหล่งเงินทุนและมีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี
                ๒.๑.๓ สหรัฐฯ เป็นเพียงหนึ่งเดียวที่มีความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งกับประเด็นปัญหาไต้หวัน โดยที่ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบต่อการดำรงไว้ซึ่งเอกภาพและบูรณภาพแห่งดินแดนของจีน
        ๒.๒ ในแง่มุมของสหรัฐฯ ซึ่งประเมินว่า จีนเป็นประเทศที่มีความสำคัญต่อสหรัฐฯ นอกจากที่จีนเป็นประเทศหนึ่งในห้าของคณะมนตรีความมั่นคงถาวรของสหประชาชาติแล้ว ยังมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ต่อสหรัฐฯ ใน ๔ ประการ ได้แก่
                ๒.๒.๑ จีนเป็นประเทศที่มีขีดความสามารถและมีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีอาวุธนิวเคลียร์ที่เป็นภัยคุกคามต่อสหรัฐฯ รวมทั้งมีความสำคัญต่อความสำเร็จของสหรัฐฯ ในการจำกัดการแพร่กระจายของอาวุธที่มีอานุภาพร้ายแรง
                ๒.๒.๒ จีนเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญต่อความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้
                ๒.๒.๓ จีนเป็นประเทศขนาดใหญ่ที่มีการพัฒนาที่รวดเร็วโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ รวมทั้งมีบทบาทสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาสภาวะแวดล้อมของโลก เช่น ปัญหาด้านมลพิษ เป็นต้น
                ๒.๒.๔ สหรัฐฯ เห็นว่า หลังจากเหตุการณ์ก่อการร้ายที่นิวยอร์กเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๔ การดำเนินความสัมพันธ์กับจีนจะส่งผลดีต่อความสำเร็จในการรักษาผลประโยชน์ร่วมกันโดยเฉพาะการต่อต้านการก่อการร้าย

๓. ข้อสังเกต การมีบทบาทที่ก้าวหน้าของจีน (Rise of China) จะมีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงของโลก ทำให้จีนต้องเข้าไปมีส่วนในการสร้างกฎระเบียบรวมทั้งบรรทัดฐานของความร่วมมือระหว่างประเทศในรูปแบบพหุภาคีเพื่อรักษาผลประโยชน์ของจีนร่วมกับประเทศต่าง ๆ มากขึ้น เช่น จีนได้นำเสนอแนวคิดความมั่นคงใหม่ (New Security Concept) ในที่ประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงแห่งเอเชีย-แปซิฟิก (ASEAN Regional Forum : ARF) ครั้งที่ ๔ เมื่อปี ๑๙๙๗ (พ.ศ.๒๕๔๐) ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย โดยเน้นความเท่าเทียมกัน (Equality) การเจรจาหารือ (Dialogue Trust) ผลประโยชน์ร่วม (Mutual Benefit) และความร่วมมือ (Cooperation) รวมทั้งแนวคิดโครงการความริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (Belt and Road Initiative : BRI) ในปี ๒๐๑๓ (พ.ศ.๒๕๕๖) เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคต่างๆ ทั้งเอเชีย ยุโรปและแอฟริกา ด้วยเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง โดยการสร้างความร่วมมือแบบเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน

บทสรุป

     ความเคลื่อนไหวในช่วงระยะเวลานี้ ซึ่งนอกจากสหรัฐฯ แล้ว ยังมีอังกฤษและฝรั่งเศส ที่ได้ใช้เสรีภาพในการเดินเรือในทะเลจีนใต้ (หรือหนานไห่) โดยเพิ่มความถี่มากขึ้น จนทำให้โฆษกกระทรวงกลาโหมของจีน ต้องออกมาแถลงว่า ทะเลจีนใต้ไม่ใช่พื้นที่ที่จะใช้เพื่อก่อกวนและเรียกร้องความสนใจ และกองทัพจีนขอคัดค้านเรื่องนี้อย่างเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นเจตนาที่จะดำเนินการในรูปแบบใดๆ ก็ตาม นอกจากนี้ จีนเห็นว่าภายใต้ความพยายามร่วมมือระหว่างจีนกับประเทศสมาชิกอาเซียน ได้ทำให้สถานการณ์ในทะเลจีนใต้มีแนวโน้มพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้นโดยลำดับ ทั้งนี้ กองทัพจีนและกองทัพสหรัฐฯ ควรปฏิบัติตามความเข้าใจร่วมกันของผู้นำทั้งสองประเทศให้ดี โดยเพิ่มพูนความไว้วางใจ ส่งเสริมความร่วมมือ บริหารและควบคุมความเสี่ยงต่าง ๆ เพื่อให้กองทัพของทั้งสองประเทศกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการรักษาความมั่นคงของความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศอย่างแท้จริง โดยเฉพาะต่อปัญหาไต้หวัน และปัญหาทะเลจีนใต้ ที่จีนถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะกระทบต่อความมั่นคงของจีน

ประมวลโดย : พันเอกไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

ข้อมูลจากเว็บไซต์

http://eng.mod.gov.cn/news/2018-09/28/content_4825831.htm

http://thai.cri.cn/247/2018/09/28/102s271700.htm

https://www.huffingtonpost.com/yan-xuetong/china-us-competition-allies_b_8449178.html 

Shenxia, Zheng. (2008). “China’s Peaceful Development and Asia-Pacific Security” in China Association for Military Science. Peaceful Development and Security in the Asia – Pacific Region. Beijing: Military Science Publishing House., pp. 8-15. และ Xuetong, Yuan. (2017). “Inside the China - U.S. Competition for Strategic Partners” in The Blog.

Zicheng, Ye. (2011). Inside China’s Grand Strategy : the Perspective From the People’s Republic. Kentucky : The University Press of Kentucky., pp. 3-4.