bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันอาทิตย์ที่ ๕ ก.ค.๖๓ ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีดาวเทียมของจีน และผลประโยชน์ที่จะได้รับจากความร่วมมือกับจีน

จีนศึกษา (วันอาทิตย์ที่ ๕ ก.ค.๖๓) ขอนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีดาวเทียมของจีน และผลประโยชน์ที่จะได้รับจากความร่วมมือกับจีน 

๑. เมื่อวันที่ ๓ ก.ค.๖๓ เวลา ๑๑.๑๐ น. ที่ศูนย์ปล่อยดาวเทียมไท่หยวน (太原卫星发射中心) จีนได้ปล่อยดาวเทียมถ่ายภาพแบบบูรณาการความละเอียดสูง ด้วยจรวดขนส่ง Long March-4B (长征四号乙运载火箭) โดยดาวเทียมดวงนี้เป็นดาวเทียมพลเรือนสำหรับสำรวจระยะไกลช่วงคลื่นแสง (optical remote sensing) ความละเอียดระดับสูงกว่า ๑ เมตร สามารถสลับโหมดถ่ายภาพได้หลายโหมด ทั้งนี้ การประจำการในวงโคจรจะยกระดับเทคโนโลยีดาวเทียมเพื่อการสำรวจระยะไกลของจีน ซึ่งจะตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องด้านข้อมูลภาพและการสำรวจระยะไกลที่มีความแม่นยำสูง

๒. ก่อนหน้านี้ เมื่อช่วงเช้าวันที่ ๒๓ มิ.ย.๖๓ จีนได้ปล่อยดาวเทียมดวงสุดท้ายของระบบนำร่องเป่ยโต่ว รุ่นที่ ๓ ขึ้นสู่วงโคจรด้วยความสำเร็จ (北斗三号最后一颗组网卫星“重启”发射成功) และสิ้นสุดการวางเครือข่ายดาวเทียมนำร่องเป่ยโต่วของจีนอย่างเสร็จสมบูรณ์ อันจะทำให้เป็นการสนับสนุนด้านเทคนิคแก่เศรษฐกิจโลกและการอัดฉีดพลังการพัฒนาใหม่ กล่าวคือ

๒.๑ ตั้งแต่จีนเริ่มปล่อยดาวเทียมนำร่องเป่ยโต่วดวงแรกอย่างเป็นทางการในปี ค.ศ.๑๙๙๔ (พ.ศ.๒๕๓๗) จนถึงปี ค.ศ.๒๐๒๐ (พ.ศ.๒๕๖๓) ที่เครือข่ายระบบดาวเทียมมีความสมบูรณ์เต็มร้อย ภายใต้ยุทธศาสตร์ “การเดิน ๓ ก้าว” ได้แก่ ให้บริการครอบคลุมพื้นที่ในประเทศ ครอบคลุมเอเชีย-แปซิฟิก กระทั่งครอบคลุมทั่วโลก จนกลายเป็นหนึ่งในสี่ระบบดาวเทียมนำร่องของโลก ควบคู่ไปกับ ระบบ GPS ของสหรัฐฯ ระบบ Glonass ของรัสเซีย และระบบ Galileo ของยุโรป

๒.๒ ระบบเป่ยโต่วมีความสามารถ ๓ ประการ ได้แก่ การบอกพิกัด การบอกเวลาอย่างแม่นยำ และการตรวจค้นหาผ่านดาวเทียม ซึ่งสามารถประสานงานด้านการคมนาคม การเกษตร ป่าไม้ การประมง อุตุนิยมวิทยา และการสื่อสาร เป็นต้น เพื่อสนับสนุนการพัฒนาของประเทศต่างๆ ซึ่งภายในปี ค.ศ.๒๐๓๕ (พ.ศ.๒๕๗๘) จีนจะสร้างระบบดาวเทียมนำร่องที่ครอบคลุม กลมกลืน และเป็นอัจฉริยะมากขึ้น โดยถือเป่ยโต่วเป็นศูนย์กลาง เพื่อสร้างคุณูปการต่อการพัฒนาเศรษฐกิจทั่วโลก

๓. ข้อสังเกต
๓.๑ จีนเป็นประเทศแรกของโลกที่ได้ส่งดาวเทียมควอนตัม (Quantum) ขึ้นสู่อวกาศ เพื่อทดลองการสร้างเครือข่ายการสื่อสารเชิงควอนตัม ซึ่งเป็นระบบเครือข่ายการสื่อสารที่รวดเร็วมากกว่าความเร็วเสียง และมีความปลอดภัยสูงสุดจากการโจรกรรมข้อมูลจากบรรดาแฮกเกอร์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมหาศาลในการรับส่งข้อมูลที่เป็นความลับ เช่น การรับส่งข้อมูลต่างๆ ของหน่วยงานรัฐบาล ทหาร และอื่นๆ เป็นต้น ซึ่งปัจจุบัน จีนส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรมากกว่า ๒๐๐ ดวง ทั้งดาวเทียมสื่อสาร ดาวเทียมบอกพิกัด ดาวเทียมสำรวจข้อมูลระยะไกล และดาวเทียมวิทยาศาสตร์อวกาศ

๓.๒ ในงาน China-ASEAN “Belt and Road” Space Information Corridor Cooperation Development Forum ที่จัดขึ้นเมื่อเดือน ก.ย.๖๑ ที่นครหนานหนิง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ถือเป็นเวทีสำคัญที่จีนกับอาเซียนจะได้ร่วมพัฒนาความร่วมมือระหว่างกันในด้านเทคโนโลยีอวกาศ ทั้งนี้ องค์กรอวกาศแห่งชาติจีน หรือ China National Space Administration (CNSA) กำลังเร่งผลักดันการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานและแพลตฟอร์มสาธารณะเพื่อการใช้ประโยชน์จากดาวเทียมและการพัฒนาธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับดาวเทียม รวมทั้งเร่งพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศในการใช้ประโยชน์จากอวกาศอย่างสันติ และสร้างด้านภูมิสารสนเทศให้กับอาเซียน สำหรับประเทศไทย สถาบัน Aerospace Information Research Institute แห่งสภาวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน (中国科学院空天信息研究院) ได้เริ่มดำเนินงานวิจัยด้านเทคโนโลยี GPS ที่มีความแม่นยำสูงในสภาพแวดล้อมที่มีความซับซ้อน เพื่อเสริมประสิทธิภาพการรับข้อมูลแบบ Real-time และยกมาตรฐานการบริหารจัดการด้านการคมนาคมอัจฉริยะในกรุงเทพฯ นอกจากนี้ จีนได้ร่วมกับไทยในการจัดตั้งสถานีรับส่งสัญญาณดาวเทียมเป่ยโต่ว โดยไทยเป็นประเทศรายแรกที่ลงนามข้อตกลงการติดตั้งระบบดาวเทียมบอกพิกัดเป่ยโต่วของจีนมาตั้งแต่เมื่อปลายเดือน ต.ค.๕๖ และการจัดตั้ง “เมืองวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีดาวเทียมเป่ยโต่วจีน-อาเซียน” (China-ASEAN Beidou Science and Technology City / 中国-东盟北斗科技城) ในประเทศไทย

บทสรุป

ผลประโยชน์ที่จะได้รับจากความร่วมมือกับจีน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ต้องใช้เทคโนโลยีจากดาวเทียม ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลไทยให้ความสำคัญเนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่มีกลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต ที่เรียกว่า New Engine of Growth ของประเทศ ดังนั้น การที่สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ได้มีความร่วมมือกับจีนมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ การทดลองและวิจัยในอวกาศ การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอวกาศในด้านการเกษตร การร่วมพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศ เช่น ระบบดาวเทียมนำทางเป่ยโต่ว เป็นต้น จึงเป็นการส่งเสริมและพัฒนาขีดความสามารถของภาคอุตสาหกรรมและบริการด้านเทคโนโลยีอวกาศ เพื่อให้ประเทศไทยเข้าสู่อุตสาหกรรมอวกาศได้อย่างเต็มรูปแบบ รวมทั้งมีความแข็งแกร่งในการต่อยอดทางด้านอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจอวกาศ จากฐานอุตสาหกรรมเดิมที่มีอยู่แล้วในประเทศ ที่จะก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มที่สูงขึ้น อันเป็นการสร้างรายได้และการสร้างงานในอนาคต

ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

ข้อมูลจากเว็บไซต์

http://www.gov.cn/xinwen/2020-07/03/content_5523869.html

https://xw.qq.com/partner/standard/20200703A0SBJN/20200703A0SBJN00?ADTAG=standard&pgv_ref=standard

http://news.moore.ren/industry/233196.htm

http://www.keomai.com/keji/20200703/106722.html

https://www.pcxun.com/tech/fresh/82599.html

http://www.sasac.gov.cn/n2588025/n2588149/c15019450/content.html

http://thai.cri.cn/20200703/58cdc59b-726b-6b4d-c334-963eb0714116.html

https://www.gistda.or.th/main/th/node/2720.html

http://thai.cri.cn/20200624/8630fb20-b597-2149-cb88-f468236361a2.html

http://www.xinhuanet.com/mil/2020-06/23/c_1210673408.html