bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันอาทิตย์ที่ ๕ ส.ค.๖๑ : บทวิเคราะห์เกี่ยวกับวิสัยทัศน์ด้านความมั่นคงของจีน

บทวิเคราะห์เกี่ยวกับวิสัยทัศน์ด้านความมั่นคงของจีน ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. จีนให้ความสำคัญต่อการดำเนินการด้านความมั่นคง โดยเฉพาะแนวคิดด้านความมั่นคงใหม่หลังจากยุคสงครามเย็น ที่มีการเปลี่ยนแปลงไปโดยมีการรวมตัวกันในภูมิภาคเพื่อการพัฒนาประเทศ ซึ่งทุกประเทศต้องเข้ามาผนึกกำลังร่วมมือกันสร้างนวัตกรรมใหม่ด้านความมั่นคง มีการทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนาระบบความมั่นคงของภูมิภาค และค้นหาแนวทางใหม่สำหรับความมั่นคง อันเกิดจากกระแสโลกาภิวัตน์ ที่มีความเกี่ยวข้องกับรากฐานทางประวัติศาสตร์ และความคาดหวังต่อความร่วมมือด้านความมั่นคงในภูมิภาค ประกอบด้วย
        ๑.๑ แนวคิดเกี่ยวกับความมั่นคงในลักษณะต่างๆ ได้แก่ ความมั่นคงร่วม (Common Security) ความมั่นคงอย่างรอบด้าน (Comprehensive Security) ความมั่นคงแบบร่วมมือกัน (Cooperative Security) และความมั่นคงแบบยั่งยืน (Sustainable Security) ซึ่งเป็นผลมาจากการประชุมสุดยอดครั้งที่ ๔ ว่าด้วยการส่งเสริมปฏิสัมพันธ์และมาตรการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชีย (the Conference on Interaction and Confidence-Building Measures in Asia: CICA) เมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ.๒๐๑๔ ณ มหานครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีน ได้เรียกร้องให้มีแนวคิดเกี่ยวกับความมั่นคงร่วม ความมั่นคงอย่างรอบด้าน ความมั่นคงแบบร่วมมือกัน และความมั่นคงแบบยั่งยืน อันจะเป็นการสร้างแนวทางสำหรับความมั่นคง ในลักษณะที่เปิดกว้างให้มีการปรึกษาหารือกันรวมทั้งการสนับสนุนให้ร่วมมือกันและแบ่งปันผลประโยชน์ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งจีนได้นิยามแนวคิดแต่ละลักษณะดังกล่าวไว้คือ
                ๑.๑.๑ “ความมั่นคงร่วม” หมายถึง การสร้างความความเคารพ และความเชื่อมั่นซึ่งกันและกันของทุกประเทศที่เกี่ยวข้องในด้านความมั่นคง เนื่องจากไม่มีประเทศใดประเทศหนึ่งที่จะมีความมั่นคงอย่างสมบูรณ์ได้โดยลำพัง ซึ่งทุกฝ่ายต้องร่วมกันคำนึงถึงการอำนวยความสะดวก ในการสร้างความมั่นคงร่วมกันด้วยความชอบธรรม
                ๑.๑.๒ “ความมั่นคงอย่างรอบด้าน” หมายถึง การส่งเสริมความมั่นคงทั้งที่เป็นความมั่นคงแบบดั้งเดิม (ที่เป็นภัยคุกคามอันเกิดจากการเผชิญหน้าทางทหาร) และความมั่นคงในรูปแบบใหม่ (ที่รองรับต่อภัยคุกคามทุกรูปแบบ เช่น การก่อการร้าย อาชญากรรมข้ามชาติ และภัยพิบัติทางธรรมชาติ เป็นต้น) ซึ่งต้องร่วมกันสนับสนุนความมั่นคงในภูมิภาคโดยให้รัฐบาลของทุกประเทศใช้แนวทางของความร่วมมือ ด้วยการพิจารณาถึงแนวทางในภาพรวมที่เกี่ยวข้องกับทุกๆ เรื่อง จากพื้นฐานทางประวัติศาสตร์และความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นจริง
                ๑.๑.๓ “ความมั่นคงแบบร่วมมือกัน” หมายถึง การส่งเสริมความมั่นคงทั้งที่เป็นรายประเทศและของภูมิภาคในภาพรวม โดยมีการปรึกษาหารือและมีความร่วมมือระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องอย่างสร้างสรรค์ มีความจริงใจที่จะเจรจาหารือกันอย่างลึกซึ่ง เพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจต่อกันในทางยุทธศาสตร์ รวมทั้งมีความสมานฉันท์ เพื่อลดความเข้าใจผิด อันอาจเกิดจากการแสวงหาแนวทางที่มีความแตกต่างกันสำหรับแก้ไขปัญหา โดยร่วมมือกันอย่างเปิดกว้างในการเผชิญหน้าต่อสิ่งท้าทายด้านความมั่นคง ตลอดจนมีการขยายขอบเขตความร่วมมือและค้นหาแนวทางใหม่ที่จะร่วมมือกันส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคง
                ๑.๑.๔ “ความมั่นคงอย่างยั่งยืน” หมายถึง ทุกประเทศที่เกี่ยวข้องต้องมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาและความมั่นคงควบคู่กัน โดยเฉพาะการลดช่องว่างจากความมั่งคั่งที่แตกต่างกันและการปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น ซึ่งเป็นพื้นฐานของความมั่นคง ด้วยการร่วมมือกันพัฒนาให้เกิดการรวมตัวกันในภูมิภาค มีการประสานความสอดคล้องของกระบวนการความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจกับกระบวนการด้านความมั่นคงในภูมิภาค เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนรวมทั้งความมั่นคงอย่างยั่งยืน
        ๑.๒ การปรับปรุงกรอบแนวคิดความมั่นคงของภูมิภาค ซึ่งจะเป็นเป็นกุญแจที่จะดำรงรักษาเสถียรภาพในระยะยาว โดยเฉพาะภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ได้แก่ กรอบแนวคิดความมั่นคงในอนาคต ซึ่งควรจะมีความหลากหลายและคลอบคลุมทุกๆ ด้าน และในทุกระดับ ทั้งนี้เพราะประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกมีความแตกต่างทางประวัติศาสตร์ ระบบการเมืองและระดับของการพัฒนา จึงต้องมีกลไกแบบพหุภาคีที่มีความก้าวหน้า เป็นกรอบแนวคิดสำหรับรองรับต่อพัฒนาการของความมั่นคงในภูมิภาค โดยยอมรับสาเหตุปัญหาและผลประโยชน์ของทุกประเทศร่วมกัน มีความโปร่งใสและลดการเผชิญหน้ากัน นอกจากนี้ การพัฒนากรอบแนวคิดความมั่นคงของภูมิภาค ควรจะมีความก้าวหน้าในการดำเนินการแบบคู่ขนานกับแนวคิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจของภูมิภาค

๒. เหตุผลสำคัญในการดำเนินนโยบายความมั่นคงของจีน
        ๒.๑ เนื่องจากสภาพลักษณะทางภูมิรัฐศาสตร์ที่จีนมีเขตแดนติดต่อกับประเทศต่าง ๆ รวม ๑๔ ประเทศ และในจำนวนนั้นเป็นประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์ถึง ๔ ประเทศ (ได้แก่ รัสเซีย อินเดีย ปากีสถาน และเกาหลีเหนือ)
        ๒.๒ จีนต้องเผชิญหน้ากับพันธมิตรของสหรัฐฯ ได้แก่ ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์และไทย ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งมิตรและศัตรูของจีน
        ๒.๓ ความบาดหมางในความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับญี่ปุ่นซึ่งเป็นมหาอำนาจหลักทางเศรษฐกิจของโลก รวมทั้งความใกล้ชิดระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือ

บทสรุป

จีนได้ประเมินท่าทีของสหรัฐฯ ว่า สหรัฐฯ น่าจะดำเนินการต่อจีน ได้อย่างน้อยใน ๒ รูปแบบ คือ (๑) มุ่งรั้งหน่วงและจำกัดการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับประเทศต่าง ๆ และ (๒) ปกป้องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ โดยสร้างอุปสรรคต่อสินค้าและการบริการของจีน

ประมวลโดย : พันเอกไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

เอกสารประกอบการเขียน

1. The State Council Information Office of the People’s Republic of China (2017). China’s Policies on Asia-Pacific Security Cooperation. Beijing : Foreign Languages Press Co.Ltd.
2. Lampton, David M. (2008). The Three Faces of Chinese Power Might, Money, and Minds. California: University of California Press.