bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันเสาร์ที่ ๑๑ ก.ค.๖๓ ความเคลื่อนไหวของจีนในการเข้าร่วม "สนธิสัญญาว่าด้วยการค้าอาวุธ (Arms Trade Treaty : ATT) หรือ 武器贸易条约

จีนศึกษา (วันเสาร์ที่ ๑๑ ก.ค.๖๓) ขอนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของจีนในการเข้าร่วม "สนธิสัญญาว่าด้วยการค้าอาวุธ (Arms Trade Treaty : ATT) หรือ 武器贸易条约"  ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
 
๑. นายจ้าว ลี่เจียน (赵立坚  Zhao Lijian) โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน (中国外交部发言人) กล่าวในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ ๗ ก.ค.๖๓ ว่า  
     ๑.๑ จีนได้เสร็จสิ้นขั้นตอนทางกฎหมายที่จะเข้าร่วมสนธิสัญญาการค้าอาวุธระหว่างประเทศแล้ว โดยจีนยินดีจะเสริมการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือกับประเทศต่างๆ อุทิศกำลังให้การบริหารการค้าอาวุธทั่วโลกสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ เมื่อวันที่ ๖ ก.ค.๖๓ ที่ผ่านมา นายจาง จวิน (张军) ผู้แทนจีนประจำสหประชาชาติ (中国常驻联合国代表) ได้ยื่นเอกสารขอเข้าร่วมสนธิสัญญาการค้าอาวุธระหว่างประเทศกับเลขาธิการใหญ่สหประชาชาติ ที่นครนิวยอร์ก ซึ่งสนธิสัญญานี้จะมีผลบังคับใช้สำหรับประเทศจีน ๙๐ วันหลังจากวันที่ ๖ ก.ค.๖๓
     ๑.๒ การเข้าร่วมสนธิสัญญาดังกล่าว เป็นมาตรการสำคัญของจีน ในการร่วมบริหารจัดการทางการค้าอาวุธทั่วโลก รักษาสันติภาพและเสถียรภาพของโลกอย่างแข็งขัน แสดงให้เห็นถึงความตั้งมั่นและจริงใจของจีนในการสนับสนุนแนวคิดพหุภาคี รักษาระบบการควบคุมกำลังทหารระหว่างประเทศ และพัฒนาประชาคมร่วมชะตาของมนุษย์
 
๒. สนธิสัญญาว่าด้วยการค้าอาวุธ (Arms Trade Treaty : ATT) หรือ 武器贸易条约
     ๒.๑ ความเป็นมาของกระบวนการจัดทำ ATT เพื่อเป็นมาตรฐานสากลที่มีผลผูกพันทางกฎหมายในการแก้ไขปัญหาการค้าอาวุธอย่างผิดกฎหมาย เริ่มขึ้นในปี ๒๐๐๖ (พ.ศ.๒๕๔๙) ในที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ ๖๑ (UNGA 61) แต่ยังไม่สามารถบรรลุฉันทามติในการรับรองร่างสนธิสัญญาฯ ได้ เนื่องจากความเห็นที่แตกต่างในหลายประเด็น จนกระทั่งประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ ๖๗  (UNGA 67) ได้มีการรับรองร่างข้อมติสนธิสัญญาการค้าอาวุธของสมัชชาสหประชาชาติ ซึ่งสำนักเลขาธิการสหประชาชาติได้จัดพิธีลงนามในสนธิสัญญาว่าด้วยการค้าอาวุธ เมื่อวันที่ ๓ มิ.ย.๕๖ ณ Trusteeship Council Chamber โดยมีประเทศที่ร่วมลงนามทั้งหมด ๖๗ ประเทศ
     ๒.๒ ATT จะมีผลบังคับใช้ภายใน ๙๐ วัน หลังจากวันที่มีการฝากหนังสือให้สัตยาบัน รับ รับรอง หรือภาคยานุวัติ จำนวน ๕๐ ฉบับ ต่อเลขาธิการสหประชาชาติ ทั้งนี้ ในปี ๒๐๑๓ (พ.ศ.๒๕๕๖) ได้มีการจัดตั้งกองทุน United Nations Trust Facility Supporting Cooperation on Arms Regulation (UNSCAR) เพื่อสนับสนุนการปฏิบติตามพันธกรณีของอนุสัญญาฯ ในทุกมิติ (โดยกองทุนนี้จะเน้นให้การสนับสนุนกระบวนการให้สัตยาบันต่อ ATT ของประเทศต่าง ๆ อาทิ กระบวนการออกกฎหมายภายในประเทศ การเสริมสร้างศักยภาพของหน่ายงาน และความช่วยเหลือทางเทคนิค) รวมทั้ง The UN Programme of Action to Prevent, Combat and Eradicate the Illicit Trade in Small Arms and Light Weapons (PoA) หรือ UN PoA ซึ่งมีผลผูกพันทางการเมือง (politically-binding) ต่อรัฐภาคีสหประชาชาติในการดำเนินมาตรการบังคับใช้กฎหมายภายในประเทศในเรื่องการควบคุมการใช้อาวุธขนาดเล็กและอาวุธเบา และได้กำหนดให้มีการประชุมรัฐสมาชิกเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลในการดำเนินการตาม PoA ทุก ๒ ปี โดยกำหนดให้มีการประชุมทบทวนความก้าวหน้าในการดำเนินการตาม UN PoA
 
บทสรุป
ความเคลื่อนไหวของจีนในการเข้าร่วม "สนธิสัญญาว่าด้วยการค้าอาวุธ (ATT)" โดยได้ดำเนินกระบวนการทางกฎหมายภายในประเทศให้แล้วเสร็จ ต่อจากนั้นได้รีบยื่นหนังสือไปยังเลขาธิการสหประชาชาติผ่านช่องทางการทูต ดังที่นายจ้าว ลี่เจียน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศกล่าวในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ ๗ ก.ค.๖๓ นั้น ถือเป็นการแสดงถึงท่าทีที่ชัดเจนของจีนในการสนับสนุนวัตถุประสงค์และเป้าหมายของสนธิสัญญาฯ โดยเฉพาะการเห็นด้วยกับการใช้มาตรการที่จำเป็น เพื่อสร้างระเบียบให้กับการค้าอาวุธระหว่างประเทศ ตลอดจนการปราบปรามการค้าอาวุธที่ผิดกฎหมายอย่างจริงจัง นับเป็นอีกบทบาทหนึ่งของจีนโดยการเสริมสร้างการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือ (加强交流与合作) ในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ
 
ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล  

ข้อมูลจากเว็บไซต์