bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันเสาร์ที่ ๑๑ ส.ค.๖๑ : การสัมมนาวิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน ครั้งที่ ๗

ข้อคิดจากการปาฐกถาในการสัมมนาวิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน ครั้งที่ ๗ ภายใต้หัวข้อเรื่อง "ความริเริ่มแถบเศรษฐกิจเส้นทางสายไหมยุคใหม่กับประเทศไทย ๔.๐ : สู่การพัฒนาร่วมกัน" หรือ "迈向共同发展:“ 一带一路”与“泰国 4.0” "The Belt and Road Initiative and Thailand 4.0 : Towards Common Development" ที่ได้จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๙-๑๓ สิงหาคม ๒๕๖๑ ณ ศูนย์การประชุมกรุงเทพ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ และที่ศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์กองทัพไทยเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา บ้านแหลมแท่น ถนนบางแสน-อ่างศิลา จังหวัดชลบุรี ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. การปาฐกถาในงานเลี้ยงต้อนรับผู้บริหารและคณะนักวิจัยของจีน เมื่อวันที่ ๙ ส.ค.๖๑ ณ ศูนย์การประชุมกรุงเทพ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ
        ๑.๑ ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้ข้อคิดว่า นวัตกรรมได้เปลี่ยนแปลงโลกและวิถีชีวิตคนในสังคม โดยเฉพาะเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) ทำให้รู้พฤติกรรมทั้งหมดที่จะสามารถนำไปสู่การตัดสินใจ รวมทั้งนำไปสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ ๔ ขณะที่จีนดำเนินการเชื่อมโยง The Belt and Road Initiative (BRI) โดยการสร้างหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Partnership) ซึ่งประเทศไทยจะต้องปรับตัวให้สอดรับกับวัฏจักรการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมที่เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต S-curve และ New-S-curve ในยุคอุตสาหกรรมไทย ๔.๐ และการพัฒนาประเทศไทย ๔.๐
        ๑.๒ ศาสตราจารย์ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ อดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง ให้ข้อคิดว่า ความยิ่งใหญ่ของ BRI ในการเชื่อมโยงจีนกับอาเซียน และเชื่อมโยงมหาสมุทรแปซิฟิกกับมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งจะสร้างโอกาสให้กับประเทศไทยที่มีจุดแข็งในการเป็นศูนย์กลางของอาเซียน ในการเชื่อมต่อโครงการ EEC (Eastern Economic Corridor หรือ โครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก) ซึ่งเป็นแผนยุทธศาสตร์ภายใต้ประเทศไทย ๔.๐ กับ BRI
๑.๓ ศาสตราจารย์ สวี่ สีเผิง (Xu Xipeng) อธิการบดีมหาวิทยาลัยหัวเฉียวแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ให้ข้อคิดว่า แนวคิด BRI ที่ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง นำเสนอนั้น ได้รับการตอบรับจากประเทศต่างๆ จำนวนมากและการไปมาหาสู่ระหว่างไทยกับจีน โดยเฉพาะมีนักศึกษาของไทยไปเรียนที่จีนและนักศึกษาจีนมาเรียนที่ไทยเพิ่มมากขึ้น ได้ทำให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกันมากขึ้น โดยเฉพาะในปีนี้เป็นปีที่ครบรอบ ๑๕ ปีของความสัมพันธ์แบบหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์จีน-อาเซียน และในปีหน้าประเทศไทยจะรับหน้าที่เป็นประธานอาเซียนอีกด้วย จึงคาดหวังว่าทั้งสองประเทศจะได้ร่วมมือกันยกระดับความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ให้สูงยิ่งขึ้นไป

๒. การปาฐกถาในพิธีเปิดการสัมมนาวิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน ครั้งที่ ๗ เมื่อวันที่ ๑๐ ส.ค.๖๑ ณ ศูนย์การประชุมกรุงเทพ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ
        ๒.๑ ศาสตราจารย์ จวง กั๋วถู่ (Zhuang Guotu) ประธานสมาคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยหัวเฉียวแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ให้ข้อคิดเกี่ยวกับทิศทางการพัฒนา BRI กับประเทศไทย ๔.๐ ว่า มีข้อสรุปที่สำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีนจากวัฒนธรรมและความเข้าใจรวมทั้งความไว้เนื้อเชื่อใจกันแบบไร้รอยต่อใน ๔ ประการ ได้แก่ (๑) ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีนในช่วงที่ถือว่าดีที่สุดหรือช่วงยุคทอง จากการค้าที่มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอาเซียนได้ส่งผลดีต่อการค้าระหว่างไทยกับจีน นอกจากนี้ เมื่อปีที่แล้ว ประเทศไทยเป็นเพียงประเทศเดียวจากอาเซียนที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมกลุ่มประเทศบริกส์ (BRICS อันประกอบด้วยบราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้) ที่จีนเป็นเจ้าภาพ และนักท่องเที่ยวจีนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่นิยมมาท่องเที่ยวที่ประเทศไทย (๒) การเชื่อมโยงประเทศไทย ๔.๐ กับ BRI จะเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะขีดความสามารถทางเศรษฐกิจของไทยที่เพิ่มสูงขึ้นอันจะเป็นการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของไทย ซึ่งจะทำให้รอดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง หรือ Middle Income Trap (๓) พื้นฐานของความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีนเกิดจากความเข้าใจและเชื่อใจระหว่างกัน ซึ่งส่วนหนึ่งได้รับอิทธิพลมาจากความเลื่อมใสและศรัทธาในพุทธศาสนาตั้งแต่ครั้งโบราณ จากการที่ภูมิศาสตร์ที่ตั้งของไทยเป็นจุดกึ่งกลางของเส้นทางการค้าทางทะเลระหว่างจีนกับอินเดีย โดยพุทธศาสนาได้หล่อหลอมจิตใจของคนไทยและคนจีนให้มีมิตรภาพที่ดีต่อกัน (๔) ความเข้าใจระหว่างกันทำให้นำไปสู่การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกันระหว่างประเทศ โดยไทยกับจีนไม่มีปัญหาระหว่างกันเพราะมีความคล้ายคลึงทางด้านวัฒนธรรม ทั้งนี้เนื่องจากวัฒนธรรมเป็นตัวชี้นำคนในสังคม ก่อให้เกิดความเชื่อ การมีคุณธรรมและจริยธรรม ทำให้คนไทยมีความโอบอ้อมอารี ในขณะที่คนจีนเป็นคนที่ปรับตัวได้ง่าย
        ๒.๒ นายวิบูลย์ คูสกุล อดีตเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงปักกิ่ง และปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ให้ข้อคิดว่า ภายใต้บริบทของความสัมพันธ์ทางสังคมและวัฒนธรรมมีส่วนสำคัญต่อการคงไว้ซึ่งผลประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งหลักการร่วมรับผลประโยชน์กันนั้นมีมาตั้งแต่ยุคที่เจิ้ง เหอ ออกเดินเรือสู่มหาสมุทรและได้แวะมาที่ดินแดนสุวรรณภูมินี้ถึง ๓ ครั้งในการเดินทางจำนวน ๗ ครั้ง จนเกิดเป็นความสัมพันธ์ของการค้าสำเภาระหว่างไทย-จีน แต่ที่สำคัญคือ ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและความมั่นคงได้นำไปสู่การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน แม้ว่าคนจีนรุ่นใหม่อาจจะไม่ได้สนใจที่จะไล่เรียงความสัมพันธ์แบบเครือญาติเหมือนคนจีนรุ่นเก่าก็ตาม แต่ Soft Power ยังมีความสำคัญ รวมทั้งเป็นเสน่ห์ในการดึงดูดใจให้คนจีนชอบที่จะมาท่องเที่ยวทางทะเลในประเทศไทยและชอบผลไม้ไทย ซึ่งการมีความสัมพันธ์กันมากขึ้นย่อมจะทำให้เกิดความไว้ใจกันมากขึ้น

บทสรุป

การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจโดยใช้การสัมมนาวิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน ในครั้งนี้ จะเป็นตัวเชื่อมโยงความร่วมมือระหว่างไทยกับจีน และจะยกระดับความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ระหว่างกันให้สูงยิ่งขึ้น นอกจากนี้ รากฐานทางด้านวัฒนธรรมที่มีความคล้ายคลึงกันระหว่างไทยกับจีน ได้เสริมสร้างต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีนให้อยู่บนพื้นฐานความเข้าใจและไว้เนื้อเชื่อใจกัน อันจะทำให้ผลประโยชน์ร่วมซึ่งเกิดจากความร่วมมือกันนั้น มีความยั่งยืนมากขึ้น

ประมวลโดย : พันเอกไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

ข้อมูลจากเว็บไซต์

http://www.vijaichina.com/home