bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันเสาร์ที่ ๑๘ ก.ค.๖๓ อาเซียนที่ได้ก้าวขึ้นเป็นหุ้นส่วนการค้ารายใหญ่ที่สุดของจีน

จีนศึกษา (วันเสาร์ที่ ๑๘ ก.ค.๖๓) ขอนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับอาเซียนที่ได้ก้าวขึ้นเป็นหุ้นส่วนการค้ารายใหญ่ที่สุดของจีน ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. สำนักงานสารนิเทศแห่งคณะรัฐมนตรี (国务院新闻办公) ของจีน ได้จัดงานแถลงข่าวเมื่อวันที่๑๔ ก.ค.๖๓ โดยนายหลี่ ขุยเหวิน (李魁文) ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ทางสถิติ (统计分析司司长) ในฐานะโฆษกศุลกากรแห่งชาติ (海关总署新闻发言人) ได้แถลงว่า การที่อาเซียนได้กลายมาเป็นหุ้นส่วนการค้ารายใหญ่ที่สุดของจีนนั้น มีปัจจัยสำคัญข้อหนึ่งมาจากการจัดการควบคุมสถานการณ์โรคระบาดไว้อย่างดี ขณะเดียวกัน ในช่วงหลายปีมานี้ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างจีน-อาเซียนได้มีความลึกซึ้งอย่างต่อเนื่อง ทำให้การเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุตสาหกรรมระหว่างสองฝ่ายมีความแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น รวมทั้งการค้าทวิภาคีก็มีความมั่นคงและเติบโตดี โดยเฉพาะช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ยอดการนำเข้า-ส่งออกระหว่างจีนกับอาเซียนสูงถึง ๒.๐๙ ล้านล้านหยวน คิดเป็น ๑๔.๗% ของยอดการค้าต่างประเทศของจีน
 
๒. ข้อสังเกต นายสี่ว์ หนิงหนิง (许宁宁) ประธานคณะกรรมาธิการธุรกิจจีน-อาเซียน (中国—东盟商务理事会执行理事长) ได้วิเคราะห์ว่า  
     ๒.๑ ระยะเวลาเกือบ ๒๐ ปีมานี้ จีน-อาเซียน ได้ดำเนินความร่วมมือด้านอุตสาหกรรม การประสานความเชื่อมโยง และด้านการเงินเป็นต้น บรรลุซึ่งผลสำเร็จที่น่าพอใจ ความร่วมมือดังกล่าวนี้ต่างช่วยเสริมให้การติดต่อทางการค้าระหว่างสองฝ่ายเพิ่มมากขึ้น การที่การค้าทวิภาคีระหว่างจีน-อาเซียนมีการเติบโต มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับความต้องการด้านการผลิตและการใช้ชีวิตของกันและกัน อีกทั้งมีความเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับการเพิ่มการลงทุนระหว่างสองฝ่าย รวมทั้งการจัดสรรอุตสาหกรรมของบริษัทข้ามชาติต่าง ๆ ในพื้นที่ประเทศจีนและอาเซียน
     ๒.๒ เมื่อเดือนตุลาคม ปี ค.ศ.๒๐๑๙ (พ.ศ.๒๕๖๒) ข้อตกลงการยกระดับเขตการค้าเสรีจีน–อาเซียน (中国-东盟自由贸易区升级协议书) มีผลบังคับใช้ต่อสมาชิกทั้งหมด โดยได้มีการปรับปรุงเงื่อนไขข้อจำกัดต่างๆ ให้น้อยลงและนำความสะดวกแก่กันมากยิ่งขึ้น อาทิ กฎระเบียบเกี่ยวกับแหล่งผลิต ข้อตกลงการผ่านด่านศุลกากร การค้าการบริการ และขอบเขตการลงทุน เป็นต้น การเอื้อความสะดวกต่างๆจากเขตการค้าเสรีเหล่านี้ ได้ส่งอิทธิพลต่อการพัฒนาการค้าระหว่างสองฝ่ายด้วย
     ๒.๓ เมื่อหันกลับไปมองอดีต ไม่ว่าจะเผชิญกับวิกฤตการเงินของทวีปเอเชียเมื่อปี ค.ศ.๑๙๙๗ (พ.ศ.๒๕๔๐) หรือการเผชิญกับวิกฤตการเงินทั่วโลกเมื่อปี ค.ศ.๒๐๐๘ (พ.ศ.๒๕๕๑) จีนและประเทศสมาชิกอาเซียนต่างมีความร่วมมือที่แข็งแกร่งยิ่งหลังผ่านวิกฤตทุกครั้ง รวมทั้งในสถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโควิด-๑๙ ของปีนี้ ก็ยิ่งทำให้สองฝ่ายตระหนักถึงความสำคัญของการเป็นประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันอย่างลึกซึ้ง
 
บทสรุป

นอกจากการที่อาเซียนได้ก้าวขึ้นเป็นหุ้นส่วนการค้ารายใหญ่ที่สุดของจีนแล้ว มีรายงานว่า ตั้งแต่เดือน ม.ค. – พ.ค.๖๓ การลงทุนจากต่างประเทศในประเทศจีน ตามข้อริเริ่ม”หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” หรือ “สายแถบและเส้นทาง” (一带一路  / Belt and Road Initiative : BRI) ได้เพิ่มขึ้น ๖% จากปีต่อปี และการลงทุนจากต่างประเทศในอาเซียนก็เพิ่มขึ้น ๑๐.๑% เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยในขณะนี้การลงทุนได้กลายเป็นประเด็นสำคัญของความร่วมมือทวิภาคีระหว่างจีนกับอาเซียน และในอนาคตคาดว่าจะมีแรงผลักดันใหม่เข้าสู่การรวมตัวกันของเศรษฐกิจของทั้งสองฝ่าย ซึ่งคาดว่าการลงทุนสองทางจะเติบโตได้เร็วขึ้นและตลาดการลงทุนจะเปิดขึ้นต่อไป ซึ่งปัจจุบันจีนเป็นแหล่งการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดของหลายประเทศในอาเซียน และสัดส่วนการลงทุนของจีนในอาเซียนก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน ดังนั้น จึงมีแนวโน้มว่าจีนและอาเซียนจะเสริมสร้างความร่วมมือในด้านการค้าการลงทุนและความร่วมมือทางเศรษฐกิจต่อไป เพื่อใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรีในระดับภูมิภาคที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง
 
ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล  

ข้อมูลจากเว็บไซต์

http://cn.chinadaily.com.cn/a/202007/14/WS5f0d4422a310a859d09d7c87.html 

https://cn.nhandan.com.vn/international/international_news/item/7981001-2020.html 

https://cn.nikkei.com/china/ceconomy/41295-2020-07-15-08-51-51.html 

https://www.wtt6.com/46850.html 

https://cn.qdnd.vn/cid-6130/7187/nid-573279.html 

http://www.cankaoxiaoxi.com/china/20200716/2415780.shtml 

https://www.yicai.com/news/100699106.html 

http://thai.cri.cn/20200716/98d487bf-804c-a493-63b4-7c584f4211d7.html 

https://www.chinca.org/CICA/info/20071313280011