bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันเสาร์ที่ ๒ ก.พ.๖๒ : การพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI)

การพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) ในมหาวิทยาลัยของจีน ขณะที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้จัดโครงการประชุมอธิการบดีในวาระครบรอบ ๗๖ ปี แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในระหว่างวันที่ ๑ – ๒ ก.พ.๖๒ ณ หอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อสร้างเวทีให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และแนวคิดในการดำเนินนโยบาย วิชาการ และวิจัยของสถาบันอุดมศึกษา และองค์กรระหว่างประเทศทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ ในยุคที่ AI เข้ามามีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงการศึกษาของโลกปัจจุบัน ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. กระทรวงศึกษาธิการจีนตั้งเป้าหมายว่า ในปี ๒๐๒๐ (พ.ศ.๒๕๖๓) มหาวิทยาลัยของจีนจะต้องมีระบบที่รองรับทั้งด้านนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะการพัฒนา AI ยุคใหม่ (new-generation AI) และ พัฒนา AI ให้เข้าไปมีส่วนร่วมในการเรียนการสอนสาขาวิชาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ (computer science) คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ จิตวิทยา และสังคมวิทยา และในปี ๒๐๓๐ (พ.ศ.๒๕๗๓) มหาวิทยาลัยจีนจะต้องเป็นศูนย์กลางด้านนวัตกรรม AI ของโลก และผลิตบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเข้าสู่ตลาดแรงงานจีน โดยแผนปฏิบัติการดังกล่าว มีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมการวิจัย การจัดตั้งศูนย์ AI การเป็น high-level think tank ของสถาบันการศึกษาจีน รวมไปถึงความร่วมมือระหว่างประเทศ

๒ การศึกษาและการเรียนรู้ AI นับว่ามีประโยชน์หลายอย่าง เนื่องจาก AI ได้เปลี่ยนวิธีเรียนและเปลี่ยนวิธีสอน เริ่มตั้งแต่ที่ AI ทำให้วิธีเรียนเปลี่ยนไป จากวิธีเดิมๆ ในอดีตที่นักเรียนจะต้องเดินทางไปโรงเรียน นั่งโต๊ะ ฟังครูสอนหน้าห้อง แล้วจดบันทึก มาสู่รูปแบบการเรียนรู้ใหม่ๆ ที่ปฏิวัติระบบการศึกษาไปโดยสิ้นเชิง นอกจากนี้ AI ยังช่วยให้คุณครูสามารถลดเวลาทำงานต่างๆ เช่น งานที่ต้องทำซ้ำไปซ้ำมา หรืองานจัดเก็บเอกสารได้อีกด้วย ทั้งนี้ มีการคาดการณ์กันว่า การใช้ AI ในกิจกรรมทางการศึกษาจะเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ ๔๘ จนกระทั่งถึงปี ๒๐๒๑ (พ.ศ.๒๕๖๔) ผลกระทบเชิงบวกของ AI จะปรากฏให้เห็นตั้งแต่การเรียนของเด็กๆ ชั้นอนุบาลจนถึงการศึกษาขั้นสูง ทั้งจะมีการสร้างสรรค์เครื่องมือเพื่อการเรียนรู้อีกหลายอย่าง สำหรับประโยชน์ของ AI ในภาคการศึกษา อาทิ
        ๒.๑ AI ช่วยลดเวลาทำงานซ้ำๆ ซึ่ง AI ช่วยจัดการงานให้กับครูอาจารย์ เช่น การตรวจงานที่เป็นแบบตัวเลือก (Multiple Choice) เพื่อให้อาจารย์มีเวลาไปให้คำปรึกษาแบบตัวต่อตัวกับนักเรียนมากขึ้น โดยนักพัฒนาซอฟต์แวร์กำลังหาวิธีตรวจงานที่เป็นแบบเขียนตอบ (Essay) แม้แต่กระบวนการรับนักเรียนเข้าเรียน (Admission) ก็ใช้ AI ช่วยจัดการและจำแนกงานเอกสารต่างๆ ได้
        ๒.๒ AI ช่วยครูอาจารย์สร้างสรรค์เนื้อหาสำหรับสอน ซึ่งปัจจุบัน AI สร้างเนื้อหาการสอนที่ใช้ไวยากรณ์ถูกต้องได้ดีเยี่ยมพอๆ กับครูอาจารย์ที่เป็นมนุษย์ อีกทั้งยังช่วยทำ e-book เพื่อสร้างช่องทางเรียนรู้แบบดิจิทัลที่เหมาะแก่นักเรียนในช่วงอายุต่างๆ โดยระบบที่ใช้กันอยู่เช่น Cram101 คือระบบที่ AI ประมวลเนื้อหาทั้งหมดในหนังสือเรียน แล้วทำเป็นแนวเนื้อหาการเรียนการสอนที่มีเนื้อหาย่อยง่าย มีบทสรุปของทุกบท มีแบบทดสอบ และบัตรคำ (Flashcards) สำหรับให้นักเรียนใช้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนอีกเครื่องมือหนึ่งที่ชื่อ Netex Learning ช่วยอาจารย์ผู้สอนในการออกแบบหลักสูตรการเรียนการสอนโดยใช้อุปกรณ์ช่วยหลายชนิด เช่น สื่อเสียง (Audio) วิดีโอ และมีผู้ช่วยออนไลน์ นอกจากนี้ การสอนแบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ก็เป็นอีกรูปแบบของ AI ที่ถูกนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายมากขึ้นเรื่อยๆ การพัฒนาของ AI ทำให้มีแอพพลิเคชันสารพัดที่ช่วยให้นักเรียนไม่ต้องเดินทางมาถึงห้องเรียน เพียงแค่มีคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ตโฟนก็สามารถเรียนได้จากทุกที่ทุกเวลา
       ๒.๓ AI ช่วยเป็นติวเตอร์ประสิทธิภาพสูง โดยช่วยติวนักเรียนตามลักษณะปัญหาของผู้เรียนเป็นรายบุคคลได้ รวมทั้งช่วยลดข้อจำกัดหลายอย่างในการไปติวหรือขอความช่วยเหลือจากอาจารย์ เช่น การที่เวลาว่างของอาจารย์แต่ละท่านอาจมีจำกัด บางครั้งนักเรียนไปเข้าพบแต่อาจารย์ไม่ว่าง หรืออาจารย์ต้องดูแลนักเรียนหลายๆ คนพร้อมกัน แต่โปรแกรมติวเตอร์อย่าง Carnegie Learning สามารถประมวลผลข้อมูลทางการเรียนของนักเรียนแต่ละคน เพื่อให้คำแนะนำได้แบบตัวต่อตัว แม้โปรแกรมนี้จะยังอยู่ในระยะเริ่มต้นพัฒนา แต่อีกไม่นานก็จะกลายเป็นอาจารย์ดิจิทัลอย่างเต็มตัว เพื่อช่วยเหลือนักเรียนนักศึกษาให้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น จากการวิเคราะห์ข้อมูลส่วนตัวของเด็กๆ แต่ละคน ที่แม้แต่อาจารย์ตัวจริงก็อาจจะทำได้ไม่ดีเท่า
       ๒.๔ AI เป็นอาจารย์ “เสมือนจริง” (อาจารย์หุ่นยนต์) ทั้งนี้เนื่องจากบุคลากรหลายอาชีพก็ถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์ไปแล้ว เช่น มัคคุเทศก์ ที่มีการนำระบบนำเที่ยวด้วยเสียงหรือ AR และ VR เข้ามาเสริมประสบการณ์การท่องเที่ยวแบบไม่ต้องใช้มัคคุเทศก์ หรือพนักงานประสานงานด้านต่างๆ ที่ AI สามารถทำหน้าที่แทนได้อย่างแม่นยำ เพราะหุ่นยนต์เหล่านี้คิดได้ จึงมีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ได้ดีมากขึ้นเรื่อยๆ

บทสรุป

แม้ AI จะเข้ามาทำหน้าที่ในระบบการศึกษาได้ดีและครอบคลุมเกือบทุกด้าน รวมทั้งยังท้าทายอำนาจและอาชีพในระบบเดิมอย่างครูอาจารย์ หรือผู้บริหารสถาบันการศึกษาด้วยก็ตาม แต่การทำหน้าที่ที่สำคัญอย่างยิ่งในการหล่อหลอมอนาคตของมวลมนุษยชาติ ก็ยังจำเป็นต้องได้รับการควบคุมดูแลที่ดีมากพอ โดยเฉพาะต้องไม่ลืมว่า การที่ AI จะคิดเป็นและถ่ายทอดได้นั้น จะต้องมีที่มาจากการที่มนุษย์ได้ “สอน” และ “ป้อนข้อมูล” ที่ถูกต้องเหมาะสมให้กับ AI ไม่เช่นนั้นแล้ว AI ก็คงมีสภาพไม่ต่างจากเด็กมีปัญหาที่สับสนกับข้อมูลจำนวนมหาศาล ซึ่งไม่ได้ผ่านการคัดกรองที่ดีพอนั่นเอง จึงน่าติดตามผลการประชุมอธิการบดีในวาระครบรอบ ๗๖ ปี แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่เห็นถึงความสำคัญของ AI ต่อการเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงการศึกษาของโลกปัจจุบัน

ประมวลโดย : พลตรีไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

ข้อมูลจากเว็บไซต์

https://mis-services.ku.ac.th/ku76th/

https://web.tcdc.or.th/th/Articles/Detail/%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD-AI-%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B9%82%E0%B8%89%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A8%E0%B8%B6%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%B2 

https://www.voicetv.co.th/read/R4qE2eF-J

http://globthailand.com/china_0139/