bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันเสาร์ที่ ๒ มิ.ย.๖๑ : แนวคิดของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ในการผลักดันการพัฒนาแถบเศรษฐกิจแม่น้ำแยงซี

แนวคิดของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เกี่ยวกับการผลักดันการพัฒนาแถบเศรษฐกิจแม่น้ำแยงซี ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. ความสำคัญของแผนการพัฒนาแถบเศรษฐกิจแม่น้ำแยงซี ซึ่งได้มีการนำเสนอเมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๙ นับเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับภาพรวมการพัฒนาของจีน โดยเฉพาะการยืนหยัดในการอนุรักษ์ระบบนิเวศ รวมทั้งเน้นการปฏิรูปและการสร้างสรรค์ เพื่อให้บรรลุการพัฒนาเศรษฐกิจที่มีคุณภาพสูง (แม่น้ำแยงซี หรือแม่น้ำฉางเจียง เป็นแม่น้ำที่ยาวที่สุดในทวีปเอเชีย และเป็นแม่น้ำที่ยาวเป็นอันดับที่ ๓ ของโลก รองจากแม่น้ำไนล์ในทวีปแอฟริกาและแม่น้ำแอมะซอนในทวีปอเมริกาใต้ โดยแม่น้ำแยงซียาว ๖,๓๐๐ กิโลเมตร)

๒. เมื่อเดือน เม.ย.๖๑ ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้เดินทางไปดูงานที่เมืองอู่ฮั่น ซึ่งเป็นเมืองที่ตั้งอยู่บนจุดศูนย์กลางของแถบเศรษฐกิจแม่น้ำแยงซี โดยไปตรวจดูงานสภาพการย้ายวิสาหกิจเคมีออกห่างจากแม่น้ำแยงซี และการฟื้นฟูระบบนิเวศที่ท่าเรือต่างๆ ในนิคมอุตสาหกรรมวัสดุใหม่ของกลุ่มบริษัทซิงฟา ซึ่งเป็นวิสาหกิจเคมีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาวิสาหกิจของจีน ที่อยู่ในบริเวณเขื่อนซานเสีย ที่ต้องถูกย้ายออกจากริมแม่น้ำแยงซี โดยทางกลุ่มบริษัทฯ ได้รื้อถอนอุปกรณ์และท่าเรือริมแม่น้ำแยงซีต่างๆ ไปหมด โดยย้ายห่างจากริมแม่น้ำ ๙๕๐ เมตร รวมทั้งปลูกต้นไม้โดยรอบ ขณะเดียวกันทางบริษัทได้ปรับปรุงเทคโนโลยีการผลิต ยกระดับอุตสาหกรรม และวางแผนระบบรีไซเคิล ทั้งนี้ เนื่องจากประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้เน้นว่า
        ๒.๑ แม่น้ำแยงซีเป็นเส้นเลือดหล่อเลี้ยงชีวิตประชาชาติจีน ต้องอนุรักษ์ไว้ให้ดี ต้องจัดให้การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอยู่อันดับต้นๆ ของการพัฒนาแถบเศรษฐกิจแยงซี ไม่ทำการก่อสร้างขนาดใหญ่ โดยไม่ได้หมายถึงการห้ามไม่ให้ทำการก่อสร้างใดๆ แต่หมายถึงการไม่ก่อสร้างแบบทำลาย และต้องเน้นการอนุรักษ์ระบบนิเวศ รวมทั้งเดินหนทางแห่งการพัฒนาสีเขียว
        ๒.๒ วิสาหกิจเป็นกำลังสำคัญในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ต้องเพิ่มความรับผิดชอบของวิสาหกิจ โดยยกเลิกอุตสาหกรรมที่ล้าสมัย และพัฒนาการผลิตแบบสะอาด
        ๒.๓ ต้องย้ายวิสาหกิจที่สร้างมลพิษทั้งหมดให้ห่างจากริมแม่น้ำแยงซี ซึ่งนอกจากต้องย้ายพนักงาน และอุปกรณ์ต่าง ๆ แล้ว ยังต้องจัดการขยะให้เหมาะสม ปราบปรามภัยอันตรายที่อาจจะสร้างให้กับแม่น้ำแยงซีโดยสิ้นเชิง

๓. หลังจากการดูงานที่ท่าเรือสองฝั่งแม่น้ำแยงซี ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เห็นว่า การดำเนินยุทธศาสตร์พัฒนาเศรษฐกิจแถบแม่น้ำแยงซีต้องเพิ่มกำลังอีก โดยต้องพิจารณาถึงผลประโยชน์ยาวไกลของประชาชาติจีน และต้องเข้าใจความสัมพันธ์ใน ๕ ประการ เป็นอย่างดี ได้แก่
        ๓.๑ ประการที่หนึ่ง ต้องเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างการผลักดันในภาพรวมกับการบรรลุความสำเร็จในส่วนสำคัญ ของการฟื้นฟูและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบริเวณแม่น้ำแยงซี ที่ต้องยืนหยัดต่อระบบนิเวศ
        ๓.๒ ประการที่สอง ต้องเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกับการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยการอนุรักษ์ระบบนิเวศกับการพัฒนาเศรษฐกิจไม่ได้ขัดแย้งกัน และการอนุรักษ์ระบบนิเวศจะประสบความสำเร็จหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับโครงสร้างเศรษฐกิจและรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจ ที่ต้องยืนหยัดการพัฒนารวมทั้งการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน และไม่ควรให้สองปัจจัยนี้เป็นปฏิปักษ์ต่อกัน
        ๓.๓ ประการที่สาม ต้องเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างการวางแผนโดยรวมกับการใช้ความพยายามในระยะยาวไกล ดังนั้น การผลักดันการพัฒนาแถบเศรษฐกิจแม่น้ำแยงซีที่เป็นโครงการใหญ่ จึงไม่อาจจะสำเร็จได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งต้องมีการวางแผนระดับบนเป็นอย่างดี และปฏิบัติตามแผนการอย่างจริงจัง
        ๓.๔ ประการที่สี่ ต้องเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างการยกเลิกอุตสาหกรรมเก่ากับการพัฒนาแรงกระตุ้นใหม่ ในการสร้างแถบเศรษฐกิจแม่น้ำแยงซีเป็นระบบเศรษฐกิจที่ทันสมัย โดยแรงกระตุ้นการพัฒนาจะเป็นปัจจัยที่กำหนดความเร็ว และประสิทธิภาพของการพัฒนา ซึ่งต้องผลักดันการปฏิรูปด้านอุปทาน รวมทั้งผลักดันปรับเปลี่ยนแรงกระตุ้นการพัฒนาของแถบเศรษฐกิจแม่น้ำแยงซี เพื่อสร้างโอกาสให้เกิดแรงกระตุ้นการพัฒนาใหม่
        ๓.๕ ประการที่ห้า ต้องเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างการพัฒนาตนเองกับการพัฒนาร่วมกัน ซึ่งแถบเศรษฐกิจแม่น้ำแยงซีเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจระบบน้ำ ระบบทางบก ท่าเรือ ริมฝั่งแม่น้ำ อุตสาหกรรมและตัวเมือง ดังนั้น เขตต่างๆ และเมืองต่างๆ ริมแม่น้ำแยงซีต้องมองภาพรวม และพัฒนาร่วมกัน

บทสรุป

แถบเศรษฐกิจแม่น้ำแยงซี มีเมืองอู่ฮั่น ซึ่งตั้งอยู่บนจุดศูนย์กลางของแถบเศรษฐกิจฯ โดยมีพื้นที่ครอบคลุมถึงมหานครเซี่ยงไฮ้ มณฑลเจียงซู มณฑลเจ้อเจียง มณฑลอันฮุย มณฑลเจียงซี มณฑลหูเป่ย มณฑลหูหนาน มหานครฉงชิ่ง มณฑลซื่อชวน (เสฉวน) มณฑลอวิ๋นหนาน (ยูนนาน) และมณฑลกุ้ยโจว ครอบคลุมพื้นที่ภาคตะวันออก ภาคกลางและภาคตะวันตก อันเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพสูงที่สุดของจีน ดังนั้นการผลักดันการพัฒนาแถบเศรษฐกิจแม่น้ำแยงซี จึงมีความสำคัญในทางยุทธศาสตร์เป็นอย่างยิ่ง

ประมวลโดย : พันเอกไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

ข้อมูลจากเว็บไซต์

https://travel.mthai.com/world-travel/37981.html

http://thai.cri.cn/247/2018/05/22/102s267319.htm

http://www.thaibizchina.com/thaibizchina/th/about-china/yangtze.php

http://www.eastasiawatch.in.th/th/articles/politics-and-economy/505/