bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันเสาร์ที่ ๒๓ ก.พ.๖๒ : แนวทางการแก้ไขปัญหาทะเลจีนใต้ (ตอนที่ ๓ – จบ)

แนวทางการแก้ไขปัญหาทะเลจีนใต้ (ตอนที่ ๓ – จบ) จากการเตรียมการของจีนเพื่อรับมือกับการที่สหรัฐฯ ต้องการสกัดกั้นอิทธิพลของจีนที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วจากการดำเนินโครงการความริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง”ของจีน (Belt and Road Initiative : BRI) โดยเฉพาะเส้นทางสายไหมทางทะเลที่พาดผ่านพื้นที่ทะเลจีนใต้ และส่งผลกระทบต่ออิทธพลของสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้ รวมทั้งท้าทายต่อยุทธศาสตร์สำคัญของสหรัฐฯ ที่จะดำรงสถานภาพของการเป็นอภิมหาอำนาจเพียงหนึ่งเดียวของโลก ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. การเตรียมการของจีนเพื่อคลื่คลายสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ ที่ได้ลดความตึงเครียดลงไปในระดับหนึ่งจากการประชุมเจ้าหน้าที่ระดับสูงว่าด้วยการปฏิบัติตาม "ปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้" ครั้งที่ ๑๕ ที่เมืองฉางซา มณฑลหูหนาน เมื่อวันที่ ๒๗ มิ.ย.๖๑ โดยได้มีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิบัติตามปฏิญญาดังกล่าว ระหว่างจีนกับอาเซียน รวมทั้งเร่งความร่วมมือทางทะเล และเจรจาประเด็นหลักการปฏิบัติในทะเลจีนใต้ ทั้งนี้ นายข่ง เสวียนโย่ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน และเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากกระทรวงการต่างประเทศจีนและของประเทศในกลุ่มอาเซียนได้เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ด้วย

๒. การเตรียมการของจีนเพื่อตอบโต้สหรัฐฯ ที่แสดงการยั่วยุโดยส่งเรือพิฆาตเข้ามาใกล้เกาะเทียมของจีนในทะเลจีนใต้อยู่เสมอ โดยจีนแถลงว่าไม่เคยปิดกั้นเสรีภาพในการเดินเรือ ในขณะที่สหรัฐฯ ยังคงมีความพยายามต้องการใช้คำตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ เมื่อวันที่ ๑๒ ก.ค.๕๙ ที่คัดค้านการประกาศเส้นประ ๙ เส้นของจีน โดยการยั่วยุให้ฟิลิปปินส์และประเทศที่มีข้อพิพาทในทะเลจีนใต้กับจีน เพื่อต่อต้านจีน

๓. แนวทางการแก้ไขปัญหาทะเลจีนใต้
        ๓.๑ การใช้ช่องทางการเจรจาหารือ จากการที่จีนได้ประกาศเจตนารมณ์ที่มีต่อความร่วมมือด้านความมั่นคงในเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งจะนำไปสู่การส่งเสริมพื้นฐานในการพัฒนาร่วมกันและเคียงข้างกันทางด้านเศรษฐกิจ เพื่อสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยเฉพาะการเร่งกระบวนการในการรวมกันทางเศรษฐกิจ ด้วยการสร้างเขตเสรีทางการค้าและการเชื่อมโยงกันอย่างรอบด้าน ในการพัฒนาทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม โดยดำเนินการตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ ปี ค.ศ.๒๐๓๐ (พ.ศ.๒๕๗๓) เพื่อลดช่องว่างของความแตกต่างจากการพัฒนาในภูมิภาคนี้ อันเป็นผลประโยชน์ของประเทศต่างๆ ด้วยการประสานสอดคล้องในการปฏิบัติ ซึ่งจีนได้ผลักดันกิจกรรมส่งเสริมเรื่องดังกล่าว โดยเฉพาะการดำเนินโครงการความริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” หรือ BRI รวมทั้งได้จัดตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (Asian Infrastructure Investment Bank : AIIB) และ กองทุนเส้นทางสายไหม (Silk Road Fund)
        ๓.๒ ใช้กรอบความร่วมมือกันภายใต้กลไกพหุภาคี ที่จะทำให้เกิดความเข้มแข็งสำหรับสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ด้วยการมีระบบความมั่นคงร่วมกันหลายฝ่าย และต่อต้านการมีอำนาจ แต่เพียงฝ่ายเดียว ซึ่งจีนสนับสนุนความร่วมมือที่ใกล้ชิดเพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและขยายความร่วมมือในการเจรจาหารือด้านความมั่นคงผ่านกลไกต่างๆ โดยเฉพาะจีนได้แสดงท่าทีสนับสนุนการประชุมว่าด้วยการส่งเสริมปฏิสัมพันธ์และมาตรการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชีย (Conference on Interaction and Confidence-Building Measures in Asia: CICA) เพื่อเป็นกลไกในการเจรจาหารือและความร่วมมือ นอกจากนี้ จีนและอาเซียนได้ร่วมมือกันในการจัดทำปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้ (Declaration on the Conduct of Parties in the South China Sea: DOC) อันเป็นพื้นฐานที่สำคัญการเจรจาโดยถือเป็นระเบียบปฏิบัติอย่างเป็นทางการ (Code of Conduct: COC)

บทสรุป

การมีสัญญาณในเชิงบวกจากท่าทีของจีนที่ได้เสนอให้จัดทำแนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้ (Code of Conduct in the South China Sea : COC) ให้แล้วเสร็จภายใน ๓ ปี รวมทั้งความเคลื่อนไหวที่เป็นรูปธรรมจากกลไกการเจรจาระหว่างจีนกับเวียดนามต่อกรณีข้อพิพาทเรื่องเขตแดนในรอบปีที่ผ่านมา ทำให้ประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียนในปีนี้ มองเห็นโอกาสและช่องทางในการผลักดันการหารือในเรื่องนี้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะการร่วมมือกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน เพื่อให้บรรลุข้อตกลงที่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของภูมิภาคและโลกอย่างสันติวิธีต่อไป

ประมวลโดย : พลตรีไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

ข้อมูลจากเว็บไซต์

https://www.matichon.co.th/columnists/news_217664 

https://www.posttoday.com/politic/analysis/442640 

https://blog.uspatriottactical.com/tag/military-technology/ 

http://www.xinhuanet.com/english/2018-06/22/c_137273903.htm 

ข้อมูลจากเอกสาร

The State Council Information Office f the People’s Republic of China 2017. China’s Policies on Asia-Pacific Security Cooperation. Beijing : Foreign Languages Press Co.Ltd.