bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันเสาร์ที่ ๒๕ ก.ค.๖๓ ความเคลื่อนไหวระหว่างจีน-สิงคโปร์ ผ่านช่องทางใหม่ที่เชื่อมโยงการค้าระหว่างแผ่นดินใหญ่กับทะเล และโอกาสของไทย

จีนศึกษา (วันเสาร์ที่ ๒๕ ก.ค.๖๓) ขอนำเสนอข้อมูลวิเคราะห์เกี่ยวกับความเคลื่อนไหวระหว่างจีน-สิงคโปร์ ผ่านช่องทางใหม่ที่เชื่อมโยงการค้าระหว่างแผ่นดินใหญ่กับทะเล และโอกาสของไทย ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
 
๑. เมื่อวันที่ ๒๓ ก.ค.๖๓ บริษัทพัฒนาโลจิสติกส์ช่องทางทิศใต้ของจีน-สิงคโปร์ ประกาศผลการดำเนินงานช่วงครึ่งแรกของปีนี้ว่า ช่องทางการขนส่งใหม่ระหว่างแผ่นดินใหญ่-ทะเล (“陆海新通道”) ได้ครอบคลุม ๒๓๔ ท่าเรือ ใน ๙๒ ประเทศและภูมิภาค โดยช่องทางใหม่ดังกล่าวเชื่อมโยงการค้าระหว่างแผ่นดินใหญ่กับทะเล ภายใต้ความร่วมมือของมณฑลทางภาคตะวันตกของจีนกับประเทศสิงคโปร์ ที่มีนครฉงชิ่ง (重庆)เป็นศูนย์กลางการดำเนินงาน โดยมีเขตปกครองระดับมณฑลและมณฑล อันรวมถึง กวางสี (广西) กุ้ยโจว (贵州) กานซู่ (甘肃) ชิงไห่ (青海) และซินเจียง (新疆) เป็นจุดเชื่อมต่อ ใช้รูปแบบการขนส่งทางราง ทางน้ำ และทางถนน ไปทางทิศใต้ผ่านอ่าวเป่ยปู้ (北部湾)ไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งสามารถย่นระยะเวลาการขนส่งลงได้อย่างมากหากเทียบกับการเดินเรือจากภาคตะวันออกของจีน (比经东部地区出海所需时间大幅缩短)
 
๒. ข้อสังเกต  
     ๒.๑ คณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ (国家发改委) ของจีน ได้กำหนด "แผนแม่บทสำหรับเส้นทางเดินทะเล - ฝั่งตะวันตก" (西部陆海新通道总体规划) ที่สามารถประสานทรัพยากรด้านการตลาดในประเทศและต่างประเทศ และประสานการเชื่อมโยงเศรษฐกิจแถบแม่น้ำแยงซีกับการประสานงานการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำหรับเชื่อมต่ออย่างใกล้ชิดระหว่างพื้นที่ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ พื้นที่ภาคตะวันตกเฉียงใต้ พื้นที่ชายฝั่งทะเล และพื้นที่เศรษฐกิจแม่น้ำแยงซี โดยคาดว่า แผนแม่บทดังกล่าวจะเป็นการยกระดับเชิงยุทธศาสตร์ในภูมิภาคที่จะช่วยสร้างโอกาสการลงทุนเชิงโครงสร้าง ทั้งในระยะกลางและระยะยาว ซึ่งระหว่างปี ๒๐๒๐ – ๒๐๒๕ (พ.ศ.๒๕๖๓ - ๒๕๖๘) การขนส่งตามเส้นทางในภาคตะวันตกของจีนจะพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว
     ๒.๒ ข้อมูลทางสถิติระบุว่า ตั้งแต่เริ่มเปิดดำเนินการตั้งแต่เดือนกันยายน ปี ๒๐๑๗ (พ.ศ.๒๕๖๐) จนถึงวันที่ ๓๐ มิ.ย.๖๓ ที่ผ่านมา จำนวนการขนส่งทั้งทางบกและทางน้ำระหว่างประเทศดำเนินการไปแล้ว ๑,๙๖๖ เที่ยว โดยเริ่มต้นจากสัปดาห์ละ ๑ เที่ยว เพิ่มความถี่เป็นวันละ ๒ เที่ยวไป-กลับพร้อมกัน ทั้งนี้ สินค้านำเข้าและส่งออกครอบคลุมรถยนต์และอะไหล่ วัตถุดิบและผลิตภัณฑ์เคมี อุตสาหกรรมเบา ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ เครื่องดื่ม ตลอดจนอาหารแช่แข็ง เป็นต้น รวมกว่า ๓๕๐ ประเภท
 
บทสรุป
 
แม้ว่าปัจจุบัน ช่องทางใหม่แผ่นดินใหญ่-ทะเล (“陆海新通道”) ดังกล่าว ได้เชื่อมโยงกับเส้นทางการขนส่งจีน-ยุโรป อีกทั้งยังประสานเข้ากับแถบเศรษฐกิจเส้นทางสายไหม (现丝绸之路经济带) และเส้นทางสายไหมทางทะเลในศตวรรษที่ ๒๑ (21世纪海上丝绸之路) อย่างกลมกลืนก็ตาม แต่นายหลี่ เฟิง (李丰) หัวหน้าผู้แทนสภาส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศแห่งชาติของจีนประจำประเทศไทย (中国贸促会驻泰国代表处首席代表) กล่าวในงานเจรจาการค้าสินค้าออนไลน์มณฑลจี๋หลิน-ไทย ปี ๒๐๒๐ เมื่อวันที่ ๒๒ ก.ค.๖๓ ว่า ไทยเป็นหน้าต่างที่ดีที่สุดของวิสาหกิจและสินค้าจีนที่ต้องการเปิดตลาดอาเซียน ทั้งนี้ ในช่วงหลายปีมานี้ เศรษฐกิจการค้าระหว่างมณฑลจี๋หลิน (吉林 ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน) กับไทยมีการไปมาหาสู่กันอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในช่วงเดือนมกราคมถึงพฤษภาคมปีนี้ การส่งออกของมณฑลจี๋หลินต่อไทย มีมูลค่า ๑,๑๘๐ ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ ๒๖.๑
 
ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
 
ข้อมูลจากเว็บไซต์