bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันเสาร์ที่ ๒๖ ต.ค.๖๒ การแลกเปลี่ยนความร่วมมือทางการทหารระหว่างไทยกับจีน ตอนที่ ๗ จุดยืนและบทบาทที่เหมาะสมของไทยจากข้อค้นพบในดุษฎีนิพนธ์เรื่อง “ความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน: ศึกษาเฉพาะกรณีความร่วมมือทางการทหาร”

ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. ข้อเสนอแนะในระดับนโยบายต่อจุดยืนและบทบาทที่เหมาะสมของไทย
        ๑.๑ ควรมีการนำผลการวิจัยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับแนวโน้มของสถานการณ์ความมั่นคงทั้งในระดับโลกและระดับภูมิภาครวมทั้งผลกระทบต่อระบบความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ไปใช้ในการประเมินจุดยืนทางยุทธศาสตร์และบทบาททางการทหาร ซึ่งมีผลกระทบต่อการรักษาความมั่นคงและผลประโยชน์ของประเทศ โดยเฉพาะในการประชุมเตรียมการในระดับนโยบายของกระทรวงกลาโหม เพื่อกำหนดประเด็นข้อเสนอของฝ่ายไทยในการประชุมร่วมประจำปีตามแผนงานความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างกระทรวงกลาโหมไทยกับกระทรวงกลาโหมจีนที่ผลัดกันเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม รวมทั้งในวาระการพบปะหารือในกรอบความร่วมมือต่าง ๆ เช่น กรอบความร่วมมือในการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา หรือ ADMM Plus เป็นต้น
        ๑.๒ ควรมีการเร่งรัดการจัดทำกรอบนโยบายทางยุทธศาสตร์ของกระทรวงกลาโหม โดยเน้นถึงการบูรณาการกระบวนการคิดในเชิงยุทธศาสตร์กับแผนงานความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างกระทรวงกลาโหมไทยกับกระทรวงกลาโหมของจีน เพื่อให้การวางแผนทั้งในระยะสั้น (๑ – ๒ ปี) ระยะปานกลาง (๓ – ๑๐ ปี) และระยะยาว (๑๑ – ๒๐ ปี) มีความสอดคล้องกับแนวโน้มของสถานการณ์ ความมั่นคงที่เปลี่ยนแปลงไป ตลอดจนกระทรวงกลาโหมควรเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมร่วมกับส่วนราชการของกระทรวงอื่น ๆ รวมทั้งองค์กรภาคเอกชนและองค์กรภาคประชาสังคม เพื่อระดมการมีส่วนร่วมในกิจกรรมในการป้องกันประเทศและการสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงที่ยั่งยืน

๒. ข้อเสนอแนะในระดับปฏิบัติต่อจุดยืนและบทบาทที่เหมาะสมของไทย
        ๒.๑ ผู้กำหนดนโยบายและผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินนโยบายความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างไทยกับจีน ควรใช้ความระมัดระวังในการแสดงความเห็นและท่าทีต่อปัญหาในเรื่องไต้หวัน ทิเบต องค์ดาไลลามะ ลัทธิฝ่าหลุนกง และสิทธิมนุษยชนในจีน ทั้งนี้เพราะเป็นเรื่องที่จีนเห็นว่าเป็นกิจการภายในของจีนและเป็นประเด็นที่มีความอ่อนไหว โดยเฉพาะต่อจุดยืนทางยุทธศาสตร์ อันจะส่งผลกระทบต่อความขัดแย้งในผลประโยชน์ที่สำคัญของประเทศไทยได้
        ๒.๒ ควรมีการปรับปรุงโครงสร้างของคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการฝ่ายต่าง ๆ เพื่อสนองต่อนโยบายความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างกระทรวงกลาโหมไทยกับกระทรวงกลาโหมจีน ให้มีความเป็นเอกภาพและบูรณาการแผนงานกับองค์กรอื่น ๆ ภายใต้แผนปฏิบัติการร่วมระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีนที่ได้ลงนามกัน ๓ ฉบับ (ปี พ.ศ.๒๕๕๐ – ๒๕๕๔ รวมทั้งปี พ.ศ.๒๕๕๕ – ๒๕๕๙ และปี พ.ศ.๒๕๖๐ – ๒๕๖๔) บนพื้นฐานการรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์ของประเทศไทย

บทสรุป
สถานการณ์ที่มีความซับซ้อนจากการเปลี่ยนแปลงของกระแสโลกาภิวัตน์ในปัจจุบันได้ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของทุกประเทศ โดยเฉพาะภัยคุกคามในรูปแบบใหม่ เช่น การก่อการร้าย อาชญากรรมข้ามชาติและภัยพิบัติทางธรรมชาติ เป็นต้น จนไม่มีประเทศใดสามารถแก้ไขปัญหาภัยคุกคามดังกล่าวได้เพียงลำพัง จึงจำเป็นต้องแสวงหาความร่วมมือกับประเทศอื่น ๆ การคำนึงถึงภัยคุกคามต่อความมั่นคงของประเทศและการเล็งเห็นถึงความสำคัญของการพึ่งพาอาศัยกันรวมทั้งการแสดงจุดยืนในการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์เป็นตัวแปรที่มีความสำคัญในการนำไปสู่ความร่วมมือกันระหว่างประเทศ แต่ความร่วมมือกันนั้นจะมีมากหรือน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับผลประโยชน์แห่งชาติและความไว้เนื้อเชื่อใจต่อกัน ซึ่งเป็นตัวแปรแทรกซ้อนต่อการนำไปสู่ความร่วมมือกันดังกล่าว ทั้งนี้ ความร่วมมือด้านการทหารระหว่างกระทรวงกลาโหมของไทยกับกระทรวงกลาโหมของจีน จึงมีส่วนสำคัญต่อการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจต่อกัน และก่อให้เกิดการดำเนินกิจกรรมเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน โดยเฉพาะกิจกรรมการแลกเปลี่ยนทางวิชาการตามบันทึกความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างสถาบันวิชาการป้องกันประเทศ กองบัญชาการกองทัพไทย กับมหาวิทยาลัยป้องกันประเทศ กองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน จะเป็นพื้นฐานที่สำคัญต่อการสร้างความเข้าใจระหว่างกองทัพทั้งสองประเทศ และสามารถขยายผลไปสู่ความร่วมมือด้านอื่นๆ อันจะนำไปสู่ความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างกันในที่สุด

ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
ข้อมูลจาก
(๑) ดุษฎีนิพนธ์สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปีการศึกษา ๒๕๕๔ เรื่อง “ความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน: ศึกษาเฉพาะกรณีความร่วมมือทางการทหาร” โดย ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล, พันเอก (ยศในขณะนั้น)
(๒) หนังสือเรื่อง “ความร่วมมือด้านการทหารระหว่างไทยกับจีน” โดยสถาบันวิชาการป้องกันประเทศ พ.ศ.๒๕๕๗
(๓) บันทึกของผู้เขียนในฐานะได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ประสานงานของสถาบันวิชาการป้องกันประเทศกับมหาวิทยาลัยป้องกันประเทศ ระหว่างปี พ.ศ.๒๕๕๒ – ๒๕๕๗