bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันเสาร์ที่ ๒๖ ม.ค.๖๒ : ข้อเสนอของจีนในการร่วมกันจัดโครงสร้างทั่วโลกใหม่ในยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ ๔

ข้อเสนอของจีนในการร่วมกันจัดโครงสร้างทั่วโลกใหม่ในยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ ๔ ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. เมื่อวันที่ ๒๓ ม.ค.๖๒ ในระหว่างร่วมการประชุมประจำปีเศรษฐกิจโลกที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ นายหวัง ฉีซาน รองประธานาธิบดีจีน ได้นำเสนอว่า เทคโนโลยีใหม่เป็นทั้งโอกาสและความท้าทาย จึงควรร่วมกันจัดโครงสร้างทั่วโลกใหม่ในยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ ๔ (โดยเทคโนโลยี นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ อันจะเป็นการเปลี่ยนแปลงโลกครั้งใหญ่ทั้งในแง่ของขนาด ความเร็ว และขอบเขต ทั้งนี้ โลกได้ผ่านการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่มาแล้ว ๓ ครั้ง โดยครั้งที่ ๑ จากการปฏิวัติแรงงานคนและสัตว์มาเป็นเครื่องจักรไอน้ำ ส่วนครั้งที่ ๒ จากพลังงานถ่านหินมาสู่การใช้พลังงานไฟฟ้า ก๊าซรวมทั้งน้ำมัน และครั้งที่ ๓ จากการพัฒนาระบบไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเลกทรอนิกส์ที่ระบบผลิตถูกควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์) ด้วยวิสัยทัศน์ที่ยาวไกลในการร่วมชะตาเดียวกันของมนุษยชาติ กล่าวคือ
        ๑.๑ ควรพิจารณาถึงผลประโยชน์ของประเทศตลาดเจริญขึ้นใหม่และประเทศกำลังพัฒนาด้วย ไม่ควรเรียกร้องให้ประเทศต่างๆทั่วโลกต้องปฏิบัติตามมาตรฐานของประเทศส่วนน้อยหรือประเทศพัฒนาจำนวนหนึ่ง
        ๑.๒ ควรให้ความเคารพต่ออธิปไตยของทุกประเทศ ไม่วางตัวเป็นใหญ่ด้านเทคโนโลยี ไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น
        ๑.๓ ควรยืนหยัดแนวคิดพหุภาคี จัดตั้งระบบกฎระเบียบทางเทคโนโลยีและกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศที่มีสันติภาพ ความปลอดภัย ประชาธิปไตย โปร่งใส และเปิดกว้าง ทำให้ประชากรโลกสามารถได้รับผลประโยชน์จากนวัตกรรมทางเทคโนโลยีพร้อมกัน

๒. นายหวัง ฉีซาน ยังได้เสนอว่า การศึกษาประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมและปรัชญา จะเป็นกุญแจดอกสำคัญสู่การเข้าใจประเทศจีน กล่าวคือ
        ๒.๑ จีนจะเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น และได้กำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจและสังคมตามความเป็นจริงและมีความยืดหยุ่น จนผลักดันสู่การปฏิรูปและพัฒนาสังคมจีนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ แม้ว่ามีปัจจัยหนุนหลายด้าน แต่ที่สำคัญที่สุดคือ แนวคิดการบริหารประเทศที่ว่า “ถือประชาชนเป็นศูนย์กลาง”
        ๒.๒ ส่วนนโยบายทางการทูตของจีน ได้เสนอให้สร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแบบใหม่และมีค่านิยมที่ถูกต้อง ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแบบใหม่ ต้องถือความร่วมมือและรับประโยชน์ร่วมกันเป็นแกนนำ โดยเสนอให้มีการดำเนินความร่วมมือแทนการตั้งตัวเป็นปรปักษ์กัน รวมทั้งรับผลประโยชน์ร่วมกันแทนผลประโยชน์ส่วนตัว และยกเลิกการกระทำที่เอาตัวออกห่างจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งไม่ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย

๓. ข้อสังเกต แนวคิดเกี่ยวกับการดำเนินความร่วมมือและได้รับผลประโยชน์ร่วมกันนั้น ได้สืบทอดจากวัฒนธรรมจีนดั้งเดิมที่มีช้านานกว่าห้าพันปีและประสบการณ์ทางการทูตในยุคใหม่ของจีน แนวคิดดังกล่าวแตกต่างจากแนวคิดของตะวันตกที่เน้นถึงปลาใหญ่กินปลาเล็ก และผู้ที่อยู่รอดต้องหากินเอง ดังจะเห็นได้จากปี ๒๐๑๓ (พ.ศ.๒๕๕๖) เป็นต้นมา ที่จีนได้นำเสนอแนวคิดและผลักดันความริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (Belt and Road Initiative : BRI) โดยอาจมีบางคนเห็นว่าเป็นการท้าทายระเบียบสากลที่นำโดยฝ่ายตะวันตก ซึ่งเป็นความคิดที่คับแคบ ทั้งนี้ เนื่องจากความริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” มีต้นกำเนิดจากวัฒนธรรมจีน โดย “เมิ่ง จื่อ” นักปรัชญาจีนโบราณที่เคยกล่าวว่า “เมื่อตนเองพัฒนาได้ดิบได้ดีแล้วก็ต้องช่วยเหลือคนอื่นบ้าง” ดังนั้น จีนจึงได้เสนอให้ร่วมมือกันและได้รับประโยชน์ด้วยกัน อันเป็นการสานต่อวัฒนธรรมจีนที่สืบทอดมาหลายพันปี

บทสรุป

นายหวัง ฉีซาน รองประธานาธิบดีจีน ได้กล่าวเน้นในที่ประชุมประจำปีเศรษฐกิจโลกที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ว่า จีนได้เดินบนหนทางที่สอดคล้องกับประเทศตนและยุคสมัยอย่างถูกต้อง และจะปรับปรุงสังคมนิยมที่มีเอกลักษณ์ของจีนให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นขณะดำเนินการปฏิรูปและเปิดประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต จะเชื่อมต่อกันอย่างใกล้ชิด ดังนั้น จึงต้องเข้าใจสภาพความเป็นจริงของจีน ต้องเรียนรู้ประวัติศาสตร์จีน เพื่อที่จะสามารถคาดเดาถึงอนาคตของจีนได้ ทั้งนี้ เนื่องจากไม่มีประเทศใดสามารถหลีกเลี่ยงการมีปฏิสัมพันธ์กับประเทศจีนไปได้

ประมวลโดย : พลตรีไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

ข้อมูลจากเว็บไซต์

http://www.chinadaily.com.cn/a/201901/23/WS5c487532a3106c65c34e622e.html

http://thai.cri.cn/20190124/1f249d2a-7189-e368-a9f6-199bdc0c9903.html

http://thai.cri.cn/20190124/9ae0f96b-22c4-8bf6-ff0b-c677dcd4537d.html 

http://thai.cri.cn/20190123/e112caa8-3140-880e-5126-24438e865ba7.html 

https://www.finnomena.com/nuthjira/the-fourth-industrial-revolution/