bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันเสาร์ที่ ๖ ต.ค.๖๑ : กรณีที่นายหวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของจีน

กรณีที่นายหวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของจีน ได้กล่าวเมื่อวันที่ ๒๗ ก.ย.๖๑ ว่า จีนจะสนับสนุนระบบพหุภาคี และบทบาทของสหประชาชาติ (UN) ในเวทีโลก ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. คำกล่าวของนายหวัง อี้ ได้มีขึ้นในช่วงการพบปะหารือระหว่างรับประทานอาหารเช้าซึ่งมีรัฐมนตรีต่างประเทศของชาติสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) และนายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการ UN เข้าร่วมด้วย ซึ่งเป็นการพบปะนอกรอบการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาติ (UNGA) ที่กรุงนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐฯ โดยนายหวัง อี้ กล่าวว่า UNSC โดยเฉพาะสมาชิกถาวร ต้องรับหน้าที่ในการรักษาสันติภาพ และความมั่นคงในระดับสากล นอกจากนี้ ควรใช้นโยบายที่สอดคล้องกันตามกฎบัตรสหประชาชาติและข้อตกลงในระดับสากล รวมถึงต้องยกระดับการประสานงานและการสื่อสาร พร้อมสนับสนุนความเป็นหนึ่งเดียวกันและความร่วมมือ เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายของประชาคมโลกได้ ซึ่งสอดคล้องรองรับกับแนวคิดของเลขาธิการสหประชาชาติ และประธานสมัชชาสหประชาชาติสมัยที่ ๗๓

๒. แนวคิดของเลขาธิการสหประชาชาติ และประธานสมัชชาสหประชาชาติสมัยที่ ๗๓
        ๒.๑ นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ ได้เรียกร้องผู้นำทุกประเทศและผู้แทนที่ร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญ ครั้งที่ ๗๓ (UNGA73) ร่วมมือกันหาสูตรแก้ไขสำหรับประเด็นสำคัญๆ ของโลก ตามประเด็นหลักของการประชุมสมัชชาครั้งนี้ที่ว่า กระจายอำนาจผู้นำและความรับผิดชอบสู่โลก สร้างสังคมที่สันติ เสมอภาคเท่าเทียมกัน และยั่งยืน
        ๒.๒ นางมารีอา เฟอร์นันดา เอสปิโนซา การ์เซส ประธานสมัชชาสหประชาชาติสมัยที่ ๗๓ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนหลังเสร็จสิ้นการประชุมว่า รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เห็นกิจการของสหประชาชาติ และความเป็นพหุภาคีได้รับการสนับสนุนจากทุกฝ่ายอย่างกว้างขวาง และได้ยินเสียงของผู้นำประเทศต่างๆ อย่างชัดเจนว่า บทบาทของสหประชาชาติมิอาจถูกทดแทนได้ ทั้งนี้ โลกปัจจุบันต้องการให้สหประชาชาติแสดงบทบาทในการเสริมสร้างความเป็นพหุภาคีมากกว่าช่วงเวลาใดที่ผ่านมา เพราะต้องร่วมกันใช้ปฏิบัติการ เพื่อรับมือกับการท้าทายระดับโลก

๓. ข้อสังเกต ต่อกรณีประเด็นที่น่าสนใจในเวทีประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญ ครั้งที่ ๗๓ (UNGA73)
        ๓.๑ นางเผิง ลี่หยวน ภริยาประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ในฐานะทูตองค์การอนามัยโลกในการป้องกันและรักษาวัณโรคและโรคเอดส์ ซึ่งเป็นตัวแทนบุคคลยอดเยี่ยมด้านการยับยั้งวัณโรค ได้กล่าวปราศรัยผ่านระบบวีดีโอ ในพิธีเปิดการประชุมตามคำเชิญ โดยกล่าวเน้นว่า ทุกประเทศควรจับมือกัน ใช้ความพยายามอย่างสุดความสามารถ เพื่อเปลี่ยนชีวิตของผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากวัณโรคนับล้านคน และเพื่อปราบปรามการระบาดของวัณโรคให้หมดสิ้นไป นอกจากนี้ ผู้แทนของจีนยังได้เสนอภูมิปัญญาจีนและแนวทางของจีนเกี่ยวกับการสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันของมวลมนุษยชาติ ท่ามกลางโลกที่มีความแตกแยก ซึ่งเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจในที่ประชุมระดับโลก ตั้งแต่การประชุมเศรษฐกิจโลกดาวอสไปจนถึงการประชุมของสหประชาชาติ และได้รับการชื่นชมอย่างกว้างขวางจากประชาคมโลก โดยเฉพาะนายโรเบิร์ต คูห์น นักวิชาการที่มีชื่อเสียงของสหรัฐฯ ที่ได้เคยให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวของจีน เมื่อสองปีก่อนว่า ความริเริ่ม "หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง" (Belt and Road Initiative : BRI) ที่ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้เสนอเมื่อปี ๒๐๑๓ (พ.ศ.๒๕๕๖) ถือเป็นครั้งแรกที่จีนแสดงท่าทีมีส่วนร่วมในกิจการระหว่างประเทศอย่างแข็งขัน และมีส่วนช่วยต่อการพัฒนาของโลกในภาพรวม
        ๓.๒ ในช่วง ๕ ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่จีนเสนอความริเริ่ม "หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง" หรือ BRI พร้อมกับการดำเนินโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับประเทศและเขตปกครองต่าง ๆ เป็นจำนวนมากและเริ่มเห็นถึงผลประโยชน์ที่จะได้รับภายใต้แรงกระตุ้นของ BRI อันเป็นสัญญาณที่ดีในการส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศต่างๆ และการสร้างเศรษฐกิจโลกที่เปิดเสรี รวมทั้งเมื่อ ๒ ปีก่อน ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ก็ได้นำเสนอแนวคิดดังกล่าวในที่ประชุม B20 Summit ของการประชุมกลุ่มจ G20 ณ นครหางโจวว่า การเปิดเสรีของจีน ต้องการการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย ไม่ได้มุ่งสร้างเครือข่ายอิทธิพล หากจะต้องการสนับสนุนการพัฒนาร่วมกันของทุกประเทศ ไม่ได้หวังผลประโยชน์เฉพาะตนเอง แต่หวังการสร้างผลประโยชน์ร่วมกัน

บทสรุป

มีคำกล่าวเปรียบเทียบเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของกระแสโลกในยุคปัจจุบันว่า "ดอกไม้บานเองดอกเดียว ไม่ได้หมายความว่าฤดูใบไม้ผลิมาถึงแล้ว จำเป็นต้องบานโดยพร้อมเพรียงกันอย่างเต็มสวน ถึงจะแสดงว่าฤดูใบไม้ผลิมาถึงแล้ว" ดังนั้น ความเคลื่อนไหวของจีนหลังการปฏิรูปและเปิดประเทศเป็นเวลา ๔๐ ปี ยังคงต้องยึดการลงลึกปฏิรูปและเปิดประเทศเป็นแรงขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศต่อไป ทั้งนี้เพราะจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน ที่ประกาศรายงานเมื่อวันที่ ๓๐ ส.ค.๖๑ พบว่า ตั้งแต่จีนดำเนินนโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศ การค้ากับต่างประเทศและการเปิดประเทศของจีนได้รับการพัฒนาไปอย่างมาก โดยตั้งแต่ปี ๑๙๗๘ - ๒๐๑๗ (พ.ศ.๒๕๒๑ - ๒๕๖๐) ยอดการส่งออกและนำเข้าของจีนเพิ่มขึ้น ๗๘๒ เท่า จาก ๓๕,๕๐๐ ล้านหยวนเป็น ๒๗.๘ ล้านล้านหยวน ขณะเดียวกัน โครงสร้างทางการค้าได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้น ตั้งแต่เมื่อปี ๑๙๘๕ - ๒๐๑๗ (พ.ศ.๒๕๒๘ - ๒๕๖๐) การส่งออกเครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้าของจีนเพิ่มขึ้น ๗๘๕ เท่า จาก ๑,๖๘๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็น ๑.๓ ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นต้น จึงต้องติดตามทิศทางและแนวโน้มความเคลื่อนไหวของจีนอย่างใกล้ชิดต่อไป

ประมวลโดย : พลตรีไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

ข้อมูลจากเว็บไซต์

http://sdg.iisd.org/events/73rd-session-of-the-un-general-assembly/

https://www.ryt9.com/s/iq37/2893530 

http://thai.cri.cn/247/2018/10/05/233s271848.htm 

http://thai.cri.cn/247/2018/10/03/223s271813.htm 

http://thai.cri.cn/247/2018/09/27/233s271607.htm 

https://www.youtube.com/watch?v=TatpnNjZb8M 

http://thai.cri.cn/247/2018/08/31/230s270663.htm 

https://www.fmprc.gov.cn/mfa_eng/zxxx_662805/t1601122.shtml