bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันเสาร์ที่ ๙ มิ.ย.๖๑ : ท่าทีความเคลื่อนไหวของจีนกรณีที่นายหวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจีนเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของกลุ่มประเทศบริกส์ (BRICS) ที่ประเทศแอฟริกาใต้

ท่าทีความเคลื่อนไหวของจีนกรณีที่นายหวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐ และรัฐมนตรีต่างประเทศจีน เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของกลุ่มประเทศบริกส์ (BRICS) ที่ประเทศแอฟริกาใต้ ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ ของกลุ่มประเทศบริกส์ที่ประเทศแอฟริกาใต้ นอกจากนายหวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐ และรัฐมนตรีต่างประเทศของจีน แล้วยังมีนายเซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย นางศุษมา สวราช รัฐมนตรีต่างประเทศอินเดีย และนายมาร์คอส กาลวาโอ รัฐมนตรีต่างประเทศบราซิล เข้าร่วมการประชุม โดยมี นายลินดิเว ซิซูลู รัฐมนตรีต่างประเทศแอฟริกาใต้ เป็นประธานการประชุม

๒. นายหวัง อี้ ได้กล่าวเน้นว่า
        ๒.๑ ปี ๒๐๐๖ (พ.ศ.๒๕๔๙) กลุ่มประเทศบริกส์ ได้จัดการพบปะรัฐมนตรีต่างประเทศเป็นครั้งแรกตามสมัชชาสหประชาชาติ ทำให้ความคิดทางเศรษฐกิจกลายเป็นเรื่องจริง ในช่วง ๑๒ ปี กลไกความร่วมมือของกลุ่มประเทศบริคส์ นับวันจะสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น และขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ ถือเป็นการเปิดหน้าใหม่ของความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนา โดยเมื่อปีที่แล้ว ได้กำหนดโครงสร้างแรงขับเคลื่อน ๓ ประการ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความร่วมมืออันเข้มแข็งของกลุ่มประเทศบริกส์คือ (๑) เศรษฐกิจการค้าและการเงิน (๒) ความมั่นคงทางการเมือง และ (๓) การแลกเปลี่ยนทางบุคคลและวัฒนธรรม
        ๒.๒ โลกปัจจุบันกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง มีปัญหาความท้าทายใน ๓ ด้าน ได้แก่
                ๒.๒.๑ ปัญหาการจัดการ ขณะที่ความท้าทายระดับโลกมีมากแต่ยังขาดการตอบสนองอย่างมีประสิทธิภาพ จากทั่วโลก เกิดแนวโน้มของความเป็นประเทศที่โดดเดี่ยว และต้องพึ่งพาตัวเอง
                ๒.๒.๒ ปัญหาการเชื่อใจ การแข่งขันระหว่างประเทศที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น ภูมิศาสตร์การเมืองที่เพิ่มขึ้น ความคิดแบบสงครามเย็นปรากฏขึ้น
                ๒.๒.๓ การพัฒนา โลกมีการพัฒนาที่ไม่สมดุล โดยเฉพาะการกระจายรายได้ มีความไม่เท่าเทียม พื้นที่การพัฒนาไม่สมดุล เป็นปัญหาที่โดดเด่นที่สุดที่สังคมโลกกำลังเผชิญ และเป็นเหตุผลที่สำคัญในการสร้างความวุ่นวายในสังคมของบางประเทศ

๓. ข้อสังเกต
        ๓.๑ บริกส์มีจุดเริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๔ จากแนวคิดของนาย Jim O’Neill นักเศรษฐศาสตร์จากธนาคาร Goldman Sachs ซึ่งได้วิจัยการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของบราซิล (B) รัสเซีย (R) อินเดีย (I) และจีน (C) ทั้งในแง่ส่วนแบ่งของตลาดสินค้า ดินแดน และประชากร อย่างไรก็ดี ในสมัยนั้นยังไม่ได้มีการคาดการณ์ว่าจะประเทศยักษ์ใหญ่ที่กล่าวมาจะรวมกลุ่มกันได้อย่างเข้มแข็งเช่นในปัจจุบัน และในปี พ.ศ.๒๕๔๙ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของประเทศสมาชิก BRIC (ยังไม่มีแอฟริกาใต้) ได้ประชุมครั้งแรกอย่างไม่เป็นทางการ คู่ขนานกับการประชุมอภิปรายทั่วไปของการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ โดยใช้ BRIC เป็นกลไกความร่วมมือที่สำคัญระหว่างสมาชิกโดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจและการเงิน การประชุมสุดยอด BRIC เกิดขึ้นทุกปีนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ต่อมาเมื่อแอฟริกาใต้ได้เข้ามาเป็นสมาชิกในปี พ.ศ.๒๕๕๔ ก็ได้ทำให้การรวมกลุ่มของห้าประเทศ "BRICS" สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ได้ทวีความสำคัญของบทบาทเชิง "การทูตการเมือง" (Political-diplomatic institution) ในเวทีระหว่างประเทศมากยิ่งขึ้น
        ๓.๒ แม้ว่าประเทศทั้งห้าจะมีความแตกต่างกัน แต่ก็มีความท้าทายและโอกาสที่คล้ายคลึงกันในฐานะประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ยิ่งไปกว่านั้น ประเทศเหล่านี้ยังมีการดำเนินนโยบายการต่างประเทศอย่างอิสระ มีบทบาทสำคัญและเป็นผู้นำในภูมิภาคของตน รวมถึงมีส่วนร่วมในประเด็นความมั่นคงระหว่างประเทศ อาทิ การปฏิรูปคณะรัฐมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ ความมั่นคงทางอาหาร ส่วนประเด็นความร่วมมือในกลุ่มประเทศ BRICS เองก็มีกว่า ๓๐ สาขา ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่ประเด็นการค้า พลังงาน เกษตรกรรม กีฬา ไปจนถึงยาเสพติด การดำเนินงานระหว่างรัฐบาลของประเทศสมาชิกนั้นก็เป็นไปอย่างบูรณาการโดยได้รับการสนับสนุนจากภาคประชาสังคมทั้งภาคธุรกิจและภาควิชาการของแต่ละประเทศด้วย

บทสรุป

ท่าทีของจีนต่อการรวมกลุ่มประเทศบริกส์ โดยประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เคยกล่าวว่า กลุ่มประเทศบริกส์เหมือนนิ้ว ๕ นิ้ว เมื่อคลี่ฝ่ามือออก ต่างมีจุดเด่น และเมื่อกุมมือจะเป็นกำปั้น เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลกที่ซับซ้อน กลุ่มประเทศบริกส์ต้องเดินตามทิศทางการเมืองแห่งความร่วมมือ สามัคคีกัน มีการพัฒนาร่วมกัน ยืนหยัดในการเจรจาแบบพหุภาคี และรักษาความยุติธรรมและความเสมอภาค แสดงบทบาทที่มีความรับผิดชอบร่วมกัน นอกจากนี้ กระบวนการสร้างสถาบันอย่างค่อยเป็นค่อยไปของกลุ่มประเทศบริกส์นั้น แสดงให้เห็นถึงผลประโยชน์ร่วมกันของสมาชิกทั้งห้าประเทศที่ต้องการแสวงหาผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรม ไม่เฉพาะแต่สำหรับกลุ่มประเทศบริกส์เองเท่านั้น แต่ยังได้รวมถึงประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ เช่น ประเทศประเทศไทยด้วย

ประมวลโดย : พันเอกไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

ข้อมูลจากเว็บไซต์

http://www.brics2018.org.za/en/south-africa-brics 

http://thai.cri.cn/247/2018/06/05/123s267738.htm

http://www.fmprc.gov.cn/mfa_eng/wjdt_665385/wshd_665389/t1566208.shtml 

http://www.thaibiz.net/th/search/?tags=BRICS 

http://www.fmprc.gov.cn/mfa_eng/wjdt_665385/wshd_665389/t1566206.shtml