bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันอังคารที่ ๒๔ เม.ย.๖๑ : ความเคลื่อนไหวของความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอินเดีย

ความเคลื่อนไหวของความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอินเดีย จากกรณีการเดินทางไปเยือนอินเดียของรัฐมนตรีพาณิชย์จีน เมื่อวันที่ ๒๖ มี.ค.๖๑ และกรณีของนายหยาง เจี๋ยฉือ กรรมการกรมการเมือง คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้พบหารือกับนายอาจิต โดวาล ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติอินเดีย เมื่อวันที่ ๑๓ เม.ย.๖๑ ณ นครเซี่ยงไฮ้ ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. การที่ นายจง ซาน (Zhong Shan) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของจีน เดินทางเยือนอินเดีย เมื่อวันที่ ๒๖ มี.ค.๖๑ เพื่อร่วมเป็นประธานการประชุมร่วมด้านความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การค้า วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จีน-อินเดีย ครั้งที่๑๑ (India - China Joint Group on Economic Relations, Trade, Science and Technology) กับนาย Suresh Prabhu รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรมอินเดีย ที่กรุงนิวเดลี สาธารณรัฐอินเดีย โดยมีสาระสำคัญ ประกอบด้วย
         ๑.๑ คำมั่นสัญญาจากจีนในการช่วยให้อินเดียขาดดุลการค้าในการค้าขายกับจีนน้อยลง (อินเดียขาดดุลการค้ากับจีนประมาณ ๕๑.๑ พันล้านดอลลาร์จากมูลค่าการค้ารวมประมาณ ๗๑.๕ พันล้านดอลลาร์ ในปี ๒๐๑๖ – ๒๐๑๗ (พ.ศ.๒๕๕๙ – ๒๕๖๐) โดยจีนจะเปิดรับสินค้าจากอินเดียเข้าสู่ตลาดมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าเกษตร ผลิตภัณฑ์ทางเภสัชกรรมและIT และจะให้สิทธิพิเศษแก่สินค้าจากอินเดียด้วย นอกจากนี้ ยังมีการหารือเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่ทั้งสองประเทศ จะเปิดการเจรจาการค้าเสรีระหว่างกัน
         ๑.๒ นอกเหนือจากการส่งเสริมความร่วมมือทางการค้าระหว่างกันแล้ว จีนได้คาดหวังให้อินเดียร่วมมือกับจีนเพื่อแสดงบทบาทการเป็นผู้ส่งเสริมการค้าเสรีและระบอบการค้าพหุภาคีในบริบทโลก ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา พร้อมทั้งย้ำว่านโยบายความริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (One Belt One Road : OBOR) หรือ Belt and Road Initiative (BRI) ของจีน จะสามารถส่งเสริมนโยบายด้านโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของอินเดีย อาทิ Made in India และ Digital India ซึ่งเป็นผลประโยชน์ของอินเดีย

๒. กรณีที่นายหยาง เจี๋ยฉือ (Yang Jiechi) กรรมกรมการเมืองคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้พบหารือกับนายอาจิต โดวาล (Ajit Doval) ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติอินเดีย เมื่อวันที่ ๑๓ เม.ย.๖๑ ที่นครเซี่ยงไฮ้ โดยสองฝ่ายเห็นพ้องกันว่า ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอินเดียหลังการพบปะของ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีนกับนายกรัฐมนตรีนเรทรา โมดี ของอินเดียเมื่อต้นเดือน ก.ย.๖๐ ที่เมืองเซี่ยเหมิน มณฑลฝูเจี้ยน ซึ่งมุ่งส่งเสริมความร่วมมือจีน-อินเดียในทุกด้านให้ลงลึก อันเป็นความปรารถนาของประชาชนทั้งสองประเทศ ที่สอดคล้องกับผลประโยชน์พื้นฐานของสองฝ่าย และเป็นผลดีต่อเสถียรภาพ การพัฒนา และความเจริญรุ่งเรือง

๓. ปัจจัยที่อาจเป็นอุปสรรคต่อความร่วมมือระหว่างจีนกับอินเดีย
         ๓.๑ การเผชิญหน้าทางการเมือง จากกรณีปัญหาพรมแดนระหว่างจีนกับอินเดีย โดยเฉพาะเมื่อเดือน มิ.ย.๖๐ ที่ทั้งสองประเทศเผชิญหน้ากันอย่างรุนแรงในบริเวณที่ราบ Doklam และแม้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเพิ่งคลี่คลายลงไปเมื่อปลายเดือน ส.ค.ปีที่แล้ว แต่ความหวาดระแวงที่อินเดียมีต่อจีนจะยังดำรงอยู่ ดังจะเห็นได้จากก่อนหน้านั้น ที่อินเดียไม่ยอมเข้าร่วมประชุมประเทศหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง ครั้งที่ ๑ ซึ่งจีนเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นที่กรุงปักกิ่ง เมื่อเดือน พ.ค.๖๐ เนื่องจากระแวงต่อแนวคิดการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน ที่พาดผ่านดินแดนที่เป็นปัญหาข้อพิพาทระหว่างอินเดียกับปากีสถาน
         ๓.๒ ท่าทีของอินเดียต่อแนวคิดการรวมกลุ่มประเทศ Indo-Pacific เพื่อถ่วงดุลกับการแผ่ขยายอำนาจของจีนผ่านนโยบาย “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ก็มีประเทศอินเดียเป็น ๑ ใน ๔ ประเทศหลัก (ญี่ปุ่น สหรัฐฯ ออสเตรเลีย และอินเดีย) ที่ร่วมผลักดันแนวคิดนี้ด้วย อันเกิดจากความหวาดระแวงอิทธิพลของจีนในภูมิภาค ประกอบกับอินเดียยังต้องรักษาความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ซึ่งหากเกิดกระทบจากนโยบายปกป้องทางการค้าของสหรัฐฯ ต่อจีน ก็จะเป็นโอกาสให้อินเดียเพิ่มการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ดังนั้น อินเดียจึงต้องสงวนท่าทีในการส่งเสริมความสัมพันธ์กับจีน เพื่อไม่ให้สหรัฐฯ เกิดความไม่พอใจ จนอาจหันมาออกนโยบายปกป้องทางการค้ากับอินเดีย

บทสรุป

โอกาสความเป็นไปได้ของความร่วมมือระหว่างจีนกับอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศขนาดใหญ่ที่มีประชากรรวมกันเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรโลก อันจะมีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของโลก โดยเฉพาะการก้าวขึ้นมาเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ การเมือง และการทหารของจีน ทำให้นักวิเคราะห์ทั่วไปคาดหมายว่า ศตวรรษที่ ๒๑ จะเป็น “ศตวรรษของเอเชีย” แต่จีนยังต้องเผชิญกับความหวาดระแวงของนานาชาติรวมทั้งอินเดีย และเป็นอุปสรรคต่อการเจริญก้าวหน้าของจีน ดังที่ Michael R. Auslin แห่งมหาวิทยาลัยเยล ได้เขียนหนังสือเรื่อง The End of the Asian Century กล่าวถึงความเสี่ยง ๕ ด้านของเอเชีย ที่ประกอบด้วย (๑) การสิ้นสุดของความมหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจ (๒) ปัญหาประชากร (๓) ความปั่นป่วนทางการเมือง (๔) การขาดองค์ของภูมิภาค ที่มีประสิทธิผล และ (๕) สงคราม โดยที่การตกต่ำทางเศรษฐกิจเป็นความเสี่ยงระยะกลาง ปัญหาประชากรเป็นความเสี่ยงระยะยาว แต่สงครามเป็นความเสี่ยงเฉพาะหน้า ดังนั้น จีนจึงต้องใช้ความพยายามในการแสดงบทบาทและท่าทีเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ประเทศต่างๆ ร่วมมือกับจีน ดังกรณีความเคลื่อนไหวของความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอินเดีย เป็นต้น

ประมวลโดย : พันเอกไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

ข้อมูลจากเว็บไซต์

http://pib.nic.in/PressReleaseIframePage.aspx?PRID=1526400 

http://thai.cri.cn/247/2018/04/14/123s266273.htm 

http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/644433

https://thaipublica.org/2018/01/pridi82/