bg-head-3

บทความ

จีนศึกษาฉบับพิเศษ (วันอังคารที่ ๑๑ ม.ค.๖๕) ขอนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ของจีนในการขับเคลื่อนการส่งเสริมการพัฒนาแถบเศรษฐกิจแม่น้ำแยงซี (推动长江经济带发展座谈会上) ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

จีนศึกษาฉบับพิเศษ (วันอังคารที่ ๑๑ ม.ค.๖๕) ขอนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ของจีนในการขับเคลื่อนการส่งเสริมการพัฒนาแถบเศรษฐกิจแม่น้ำแยงซี (推动长江经济带发展座谈会上) ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. เป้าหมาย เพื่อส่งเสริมแถบเศรษฐกิจแม่น้ำแยงซี โดยดำเนินการวางแผนพัฒนารวมทั้งการวางผังสำรวจเส้นทางลำดับความสำคัญของระบบนิเวศ และการพัฒนาสีเขียวในการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศจีน ทั้งนี้ จากความสำคัญของแม่น้ำแยงซีที่มีความยาวถึง ๖,๓๐๐ กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ ๑๑ มณฑลและนครริมฝั่งแม่น้ำ คิดเป็นพื้นที่ประมาณ ๒.๐๕ ล้านตารางกิโลเมตร รวมทั้งคิดเป็น ๒๑% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศและมีผลผลิตทางเศรษฐกิจเกินกว่า ๔๐% ของประเทศจีน
๑.๑ ในช่วง ๖ ปีที่ผ่านมามีการดำเนินโครงการก่อสร้างทางน้ำมากกว่า ๒๐ โครงการ โดยในปี ๒๐๒๐ (พ.ศ.๒๕๖๓) ปริมาณเรือบรรทุกเฉลี่ยในแม่น้ำแยงซีได้เพิ่มสูงขึ้น ๑,๙๖๐ ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้น ๔๒% จากปี ๒๐๑๕ (พ.ศ.๒๕๕๘) ทำให้มีปริมาณเกิน ๓ พันล้านตัน ซึ่งสูงเป็นประวัติการณ์
๑.๒ ตั้งแต่ปี ๒๐๑๖ (พ.ศ.๒๕๕๙) มีการเพิ่มเขตการค้าเสรีนำร่อง ๘ เขต และเขตผูกมัดที่ครอบคลุม ๒๔ เขตในแถบเศรษฐกิจแม่น้ำแยงซี ในปี ๒๐๑๙ (พ.ศ.๒๕๖๒) ปริมาณการนำเข้าและส่งออกการค้าสินค้ารวมเกิน ๒ ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในการรวมตัวของแถบเศรษฐกิจแม่น้ำแยงซี และในการดำเนินโครงการตามข้อริเริ่ม "หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (“一带一路”/สายแถบและเส้นทาง​ “Belt and Road Initiative: BRI") เพิ่มมากขึ้นทำให้การก่อตัวของเส้นทางบก-เส้นทางทะเลใหม่ทางด้านตะวันตกได้เร่งตัว
๑.๓ สัดส่วนของเศรษฐกิจโดยรวมของแถบเศรษฐกิจแม่น้ำแยงซีในประเทศเพิ่มขึ้นจาก ๔๒.๓% ในปี ๒๐๑๕ (พ.ศ.๒๕๕๘) เป็น ๔๖.๕% ในปี ๒๐๑๙ (พ.ศ.๒๕๖๒) ทำให้บทบาทนำของกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นใหม่ อาทิ การผลิตข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์ทั้งหมดมีสัดส่วนมากกว่า ๕๐% ของประเทศ เป็นต้น

๒. วิธีการในการดำเนินการ โดยการประชุมสัมมนาเพื่อระดมสมองในการกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนการส่งเสริมการพัฒนาแถบเศรษฐกิจแม่น้ำแยงซี กล่าวคือ
๒.๑ ในการประชุมสัมมนาทางวิชาการเพื่อส่งเสริมการพัฒนาแถบเศรษฐกิจแม่น้ำแยงซี เมื่อวันที่ ๕ ม.ค.๕๙ ณ มหานครฉงชิ่ง ที่จัดขึ้นระหว่างการตรวจสอบ โดยเลขาธิการพรรคฯ สี จิ้นผิง ได้อธิบายถึงความสำคัญอย่างละเอียดและลึกซึ้ง รวมทั้งนำเสนอความคิดที่ก้าวหน้าและภารกิจหลักของยุทธศาสตร์การพัฒนาแถบเศรษฐกิจแม่น้ำแยงซี
๒.๒ ในการประชุมสัมมนาเชิงลึก เมื่อวันที่ ๒๖ เม.ย.๖๑ ณ นครอู่ฮั่น โดยเลขาธิการพรรคฯ สี จิ้นผิง ได้เน้นการทำความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินการตามยุทธศาสตร์การพัฒนาของแถบเศรษฐกิจแม่น้ำแยงซี โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ ๕ ประการที่จำเป็นซึ่งต้องเข้าใจอย่างถูกต้องเพื่อส่งเสริมการพัฒนาแถบเศรษฐกิจแม่น้ำแยงซี
๒.๓ ในการประชุมสัมมนาเมื่อวันที่ ๑๔ พ.ย.๖๓ ณ นครหนานจิง (นานกิง) ซึ่งจัดขึ้นเป็นกรณีพิเศษหลังจากที่เลขาธิการพรรคฯ สี จิ้นผิง ตรวจสอบในพื้นที่ของมณฑลเจียงซู โดยได้สรุปว่า "การปกป้องระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมของแถบเศรษฐกิจแม่น้ำแยงซีได้ประสบกับจุดเปลี่ยนและความสำเร็จในประวัติศาสตร์ได้เกิดขึ้นในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม" (“长江经济带生态环境保护发生了转折性变化,经济社会发展取得历史性成就。”) ต้องฝึกฝนแนวคิดการพัฒนาใหม่สร้างรูปแบบการพัฒนาใหม่และมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการพัฒนาที่มีคุณภาพสูง

๓. เครื่องมือในการดำเนินการ
๓.๑ ในการปกป้องระบบนิเวศของแม่น้ำแยงซี โดยการออก "กฎหมายคุ้มครองแม่น้ำแยงซี" (长江保护法) เป็นกฎหมายพิเศษเพื่อการพัฒนาสีเขียวและการพัฒนาที่มีคุณภาพสูงของแถบเศรษฐกิจ และได้มีผลบังคับใช้ในวันที่ ๑ มี.ค.๖๔ ซึ่งในกฎหมายกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า ห้ามทำการประมง การทำเหมืองทราย การบำบัดน้ำเสีย การขนส่งสารเคมีอันตราย รวมทั้งการปกป้องสิ่งมีชีวิตในน้ำและอื่น ๆ เพื่อก่อให้เกิดกลไกการควบคุมที่เข้มงวดในการปกป้องแม่น้ำแยงซี โดยเฉพาะการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจว่า ต้องเป็นการพัฒนาอย่างเป็นวิทยาศาสตร์และเป็นระเบียเพื่อการคุ้มครองสภาพแวดล้อมทางนิเวศวิทยาในการพัฒนา
๓.๒ ในการพัฒนาแถบเศรษฐกิจแม่น้ำแยงซี โดยการออก "โครงร่างของแผนพัฒนาแถบเศรษฐกิจแม่น้ำแยงซี" (“长江经济带发展规划纲要”) อย่างเป็นทางการ ในการกำหนดรูปแบบการพัฒนาใหม่ "หนึ่งแกน สองปีก สามขั้ว และหลายจุด" (“一轴、两翼、三极、多点”) ในฐานะที่เป็นส่วนสำคัญของแถบเศรษฐกิจแม่น้ำแยงซี กล่าวคือ (๑) หนึ่งแกน หมายถึง อาศัยเส้นทางน้ำของแม่น้ำแยงซีซึ่งมีบทบาทหลักของเซี่ยงไฮ้ อู่ฮั่น และฉงชิ่ง รวมทั้งยึดเมืองสำคัญ ๆ และเมืองต่างๆ ตามแม่น้ำในการสร้างแกนการพัฒนาสีเขียวตามแม่น้ำ (๒) สองปีก หรือ ปีกสองข้าง หมายถึง การแผ่กระจายและบทบาทนำของแกนหลักของแม่น้ำแยงซีซึ่งทอดตัวไปยังแผ่นดินหลังทั้งสองด้านของทิศเหนือและทิศใต้ รวมทั้งเสริมกำลังสนับสนุนของปีกด้านเหนือและปีกด้านใต้โดยมีเส้นทางขนส่งรองรับ (๓) สามขั้ว หมายถึง การรวมตัวกันของเมืองในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี รวมทั้งจุดกึ่งกลางของการรวมตัวของเมืองในแม่น้ำแยงซี และการรวมตัวกันของนครเฉิงตู – มหานครฉงชิ่ง เป็นหลัก ซึ่งมีบทบาทในการแผ่ขยายและเป็นผู้นำในการสร้างเสาการเติบโตสามขั้วในแถบเศรษฐกิจแม่น้ำแยงซี (๔) หลายจุด หมายถึงบทบาทสนับสนุนของเมืองระดับมณฑลนอกกลุ่มเมืองใหญ่สามกลุ่ม โดยพิจารณาจากขีดความสามารถในการรองรับทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม เพื่อปรับปรุงการทำงานของเมืองอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ได้เปรียบในการสร้างเมืองที่มีลักษณะเฉพาะเสริมสร้างความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ ตลอดจนปฏิสัมพันธ์กับเมืองศูนย์กลางและขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาค

บทสรุป ผลที่คาดว่าจะได้รับคือ ภายในปี ๒๐๓๐ (พ.ศ.๒๕๗๓) สภาพแวดล้อมของแม่น้ำแยงซีมีความสมบูรณ์ โดยเฉพาะรูปแบบการพัฒนาแบบบูรณาการทั้งต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ การพัฒนาทางเศรษฐกิจมีความเข้มแข็ง รวมทั้งมีบทบาทสำคัญในการชี้นำที่เป็นแบบอย่างและสนับสนุนเชิงยุทธศาสตร์ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศจีน

ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
( ข้อมูลจากเว็บไซต์ https://m.chinanews.com/wap/detail/zw/gn/2021/01-08/9381542.shtml และเว็บไซต์ http://cq.sina.cn/news/ms/2016-09-13/detail-ifxvukhx4993014.d.html?from=wap )