bg-head-3

บทความ

จีนศึกษาฉบับพิเศษ (วันอาทิตย์ที่​ ๙ ม.ค.๖๕) ขอนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการฝึกซ้อมรบตามแนวคิดการเสริมสร้างกำลังทหารยุคใหม่ของจีน อันเป็นผลมาจากการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน หรือสมัชชาฯ ๑๙ ที่มีการรับรองธรรมนูญของพรรคฯ ฉบับปรับแก้ โดยระบุให้พรรคฯ มีอำนา

จีนศึกษาฉบับพิเศษ (วันอาทิตย์ที่​ ๙ ม.ค.๖๕) ขอนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการฝึกซ้อมรบตามแนวคิดการเสริมสร้างกำลังทหารยุคใหม่ของจีน อันเป็นผลมาจากการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน หรือสมัชชาฯ ๑๙ ที่มีการรับรองธรรมนูญของพรรคฯ ฉบับปรับแก้ โดยระบุให้พรรคฯ มีอำนาจการนำเด็ดขาดเหนือกองทัพ ในขณะที่กองทัพกำลังอยู่ในช่วงการปฏิรูปครั้งใหญ่ ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. เมื่อวันที่ ๓ ม.ค.๖๑ ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการทหารกลาง หรือ CMC ได้ไปเยือนหน่วยทหารในเขตทหารภาคกลางของจีน และกล่าวเน้นว่า กองทัพต้องปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของการประชุมสมัชชาฯ ๑๙ โดยเฉพาะแนวคิดเสริมสร้างกำลังทหารยุคใหม่ ด้วยการจัดฝึกซ้อมอย่างหนักเหมือนสู้ในสนามรบจริง และนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยบริหารจัดการกองทัพ

๒. แนวคิดเสริมสร้างกำลังทหารยุคใหม่ ได้เริ่มต้นขึ้นในงานเฉลิมฉลองวาระครบรอบ ๗๐ ปีชัยชนะเหนือญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่ ๓ ก.ย.๕๘ โดยมีการสวนสนามของกองทหาร พร้อมโชว์อาวุธยุทโธปกรณ์ที่ล้ำสมัย และได้มีการประกาศลดกำลังทหารลง ๓๐๐,๐๐๐ คน จากกำลังพลที่มีอยู่ ๒.๓ ล้านคน

๓. การปฏิรูปกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน (People's Liberation Army : PLA) ครั้งใหญ่ เมื่อวันที่ ๒๖ พ.ย.๕๘ หลังจากการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส และเจ้าหน้าที่ทางทหารระดับสูงกว่า ๒๐๐ คน ณ กรุงปักกิ่ง โดยมุ่งปฏิรูปให้แล้วเสร็จภายในปี ค.ศ.๒๐๒๐ (พ.ศ.๒๕๖๓) อันเป็นปีที่ครบรอบ ๑๐๐ ปี ของการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน (พรรคฯ ก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ.๑๙๒๑ หรือ พ.ศ.๒๔๖๔) สำหรับสาระสำคัญ ประกอบด้วย
๓.๑ การเพิ่มความเข้มแข็งให้กับผู้นำและผู้บัญชาการทางทหารในระดับสูงให้เป็นศูนย์รวมอำนาจที่มีประสิทธิภาพ ภายใต้การกำกับดูแลของพรรคคอมมิวนิสต์ และคณะกรรมาธิการทหารกลาง
๓.๒ การปรับระดับการให้น้ำหนักความสำคัญในการป้องกันประเทศ จากเดิมที่มุ่งเน้นการป้องกัน “เชิงรับ” โดยอาศัยกองทัพบกเป็นหลัก ไปสู่รูปแบบการปฏิบัติ “เชิงรุก” ที่เพิ่มน้ำหนักความสำคัญกับกองทัพเรือและกองทัพอากาศมากขึ้น
๓.๓ การปรับปรุงโครงสร้างของ PLA โดยยุบรวมหน่วยงานและจัดประเภทหน่วยงานใหม่เป็น ๓ ประเภทใหญ่ๆ โดยให้ขึ้นตรงต่อคณะกรรมาธิการทหารกลาง (CMC) คือ
๓.๓.๑ หน่วยงานประเภทรับผิดชอบด้านการบริหาร จำนวน ๑๕ หน่วย ได้แก่ (๑) หน่วยงานผู้บังคับบัญชา (๒) หน่วยงานเสนาธิการร่วม หรือ the CMC Joint General Staff Department (๓) หน่วยงานการเมือง (๔) หน่วยงานส่งกำลังบำรุง (๕) หน่วยงานอาวุธยุทโธปกรณ์ (๖) หน่วยงานการศึกษา (๗) หน่วยงานระดมพล (๘) หน่วยงานการตรวจสอบวินัย (๙) หน่วยงานกฎหมาย (๑๐) หน่วยงานวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี (๑๑) หน่วยงานวางแผนยุทธศาสตร์ (๑๒) หน่วยงานการปฏิรูป (๑๓) หน่วยงานความร่วมมือทางทหารระหว่างประเทศ (๑๔) หน่วยงานตรวจสอบบัญชี และ (๑๕) หน่วยงานธุรการ
๓.๓.๒ หน่วยงานประเภทรับผิดชอบสายงานตามเหล่าทัพ ๕ หน่วย ได้แก่ (๑) หน่วยกองทัพบก (๒) หน่วยกองทัพเรือ (๓) หน่วยกองทัพอากาศ (๔) หน่วยกองกำลังขีปนาวุธ และ (๕) หน่วยกองกำลังยุทธศาสตร์
๓.๓.๓ หน่วยงานประเภทรับผิดชอบการปฏิบัติการทางทหาร จำนวน ๕ เขตพื้นที่ยุทธบริเวณ หรือ กองทัพภาค ได้แก่ (๑) เขตภาคตะวันออก (๒) เขตภาคใต้ (๓) เขตภาคตะวันตก (๔) เขตภาคเหนือ และ (๕) เขตภาคกลาง
๓.๔ การรวมอำนาจการบังคับบัญชาแบบรวมศูนย์ โดยปรับลดกองบัญชาการที่เป็นศูนย์กลางอำนาจของ PLA จากเดิมที่มีอยู่ ๔ หน่วย ได้แก่ หน่วยบัญชาการเสนาธิการทหารใหญ่ หน่วยบัญชาการการเมืองใหญ่ หน่วยบัญชาการส่งกำลังบำรุงใหญ่ และ หน่วยบัญชาการสรรพาวุธใหญ่ ให้เหลือเพียงหน่วยเดียว คือ หน่วยบัญชาการเสนาธิการทหารใหญ่ หรือ the General Staff Department (GSD) ที่จะทำหน้าที่แทนทั้ง ๓ หน่วยที่ถูกยุบไป และถูกปรับเข้าสู่หน่วยงานใหม่ที่ใหญ่ขึ้นภายใต้ชื่อใหม่ว่า “the CMC Joint General Staff Department” ขึ้นตรงกับคณะกรรมาธิการทหารกลาง หรือ CMC ร่วมกับหน่วยงานด้านบริหารอื่นๆ อีก ๑๔ หน่วย รวมเป็น ๑๕ หน่วยงาน (ตามข้อ ๓.๓.๑) ในขณะที่หน่วยงานย่อยที่เคยอยู่ร่วมกับ GSD เดิมอย่างหน่วยข่าวกรองต่างๆ (Intelligence Units) ก็จะถูกผนวกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของหน่วยงานใหม่ของ Strategic Support Force (SSF)
๓.๕ การจัดตั้งกองบัญชาการหลักเพิ่มขึ้นใหม่ คือ กองบัญชาการกองทัพบก และ มีการปรับเปลี่ยนหน่วยบัญชาการทหารปืนใหญ่ที่ ๒ (the Second Artillery Corps) เป็นหน่วยบัญชาการกองกำลังขีปนาวุธ (the Rocket force) ซึ่งมีภารกิจในการควบคุมและเตรียมพร้อมสำหรับการใช้งานขีปนาวุธพิสัยใกล้-ไกล และข้ามทวีป ตามการจัดในข้อ ๓.๓.๒
๓.๖ การปรับปรุงและจัดตั้ง “เขตพื้นที่ยุทธบริเวณ หรือ ภาคทหาร” จากเดิมที่มี ๗ ภาคทหาร (Military Regions) ให้เหลือเพียง ๕ เขตพื้นที่ยุทธบริเวณ (Battle Zones) ได้แก่ เขตภาคเหนือ เขตภาคตะวันออก เขตภาคใต้ เขตภาคตะวันตก และเขตภาคกลาง โดยมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับระบบการบัญชาการรบ และระบบปฏิบัติการร่วมเป็นหลัก รวมทั้งจะมีการ แยกโครงสร้างการบัญชาการ และความรับผิดชอบด้านการบริหารออกจากกันอย่างชัดเจน ตามการจัดในข้อ ๓.๓.๓
๓.๗ การปรับบทบาทของกระทรวงกลาโหม จากเดิมที่ดูแลงานด้านพิธีการ การประชาสัมพันธ์ และการแลกเปลี่ยนต่างๆ ให้มาทำหน้าที่ในงานที่เกี่ยวกับ การเคลื่อนย้ายกำลัง การเกณฑ์ทหาร การฝึกกองกำลังประชาชน (Militia) และงานบริหารจัดการอื่นๆ เพื่อป้องกันการคอร์รัปชั่นระหว่างผู้บังคับบัญชา กองกำลังและเจ้าหน้าที่ในระดับท้องถิ่น
๓.๘ การจัดตั้ง “สำนักงานวินัยทหาร” และ “สำนักงานตรวจสอบภายใน” โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อป้องกันและปราบปรามปัญหาการคอร์รัปชั่นทุกรูปแบบภายในกองทัพ
๓.๙ การตั้งฐานทัพในต่างประเทศเป็นครั้งแรก โดยตั้งอยู่ที่ประเทศจิบูตี ในเขต ฮอร์น ออฟ แอฟริกา (Horn of Africa) ซึ่งมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ เพื่อสนับสนุนปฏิบัติการรักษาสันติภาพและปราบปรามโจรสลัด

บทสรุป การเสริมสร้างกำลังทหารยุคใหม่ ด้วยการจัดฝึกซ้อมอย่างหนักเหมือนสู้ในสนามรบจริง และนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยบริหารจัดการกองทัพ รวมทั้งการปรับโครงสร้างการบังคับบัญชา เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปกองทัพ ที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้ประกาศเมื่อเดือน ก.ย.๕๘ และผลจากการประชุมหารือเมื่อวันที่ ๒๖ พ.ย.๕๘ โดยมุ่งปฏิรูปให้แล้วเสร็จภายในปี ค.ศ.๒๐๒๐ (พ.ศ.๒๕๖๓) อันเป็นปีที่ครบรอบ ๑๐๐ ปี ของการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งจะทำให้กองทัพจีนมีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น

 

 

ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
(ข้อมูลจากเว็บไซต์ http://thai.cri.cn/247/2018/01/05/64s262650.htm และเว็บไซต์ https://mgronline.com/china/detail/9600000108238 รวมทั้งเว็บไซต์ http://www.sscthailand.org ตลอดจนหนังสือ Xi Jinping : The Gorvernance of China ซึ่งมีการแปลเป็นฉบับภาษาไทยใช้ชื่อว่า "สี จิ้นผิง ยุทธศาสตร์การบริหารประเทศ" จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน ปี พ.ศ.๒๕๕๙, หน้า ๒๕๕ – ๒๖๔.)