bg-head-3

ข่าวสาร

อาเซียน : ประชาคมสังคมวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ที่ยังสร้างไม่เสร็จ

 

อาจจะกล่าวได้ว่า การบูรณาการทางด้านสังคม-วัฒนธรรมของอาเซียน เป็นเสาหลักที่มีความก้าวหน้าน้อยที่สุด เพราะกลุ่มอาเซียนไม่สามารถแสวงหาสิ่งที่เรียกว่า "อัตลักษณ์" ร่วมกันได้ คำขวัญของอาเซียนที่ว่า "หนึ่งวิสัยทัศน์ หนึ่งอัตลักษณ์และหนึ่งประชาคม" จึงเป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้ยาก

ผศ.มรกต ไมยเออร์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและวิชาการสถาบันภาษาและวัฒนธรรมแห่งเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า อัตลักษณ์ร่วมที่อาเซียนควรมีคือ อัตลักษณ์ภายนอกและภายใน ในส่วนของอัตลักษณ์ภายนอก ถ้ามองอาเซียนในฐานะประชาคมทางการเมืองและเศรษฐกิจในบริบทภูมิการเมือง (Geopolitics) ภายในภูมิภาคเอเชียและระดับโลก อัตลักษณ์ร่วมมีความสำคัญโดยเฉพาะสิ่งที่เรียกว่ามี one voice (คือการพูดเป็นเสียงเดียวกันหรือความมีเอกภาพ) ในเชิงการเมืองระหว่างประเทศหรือการทำงานด้านนโยบายต่างประเทศ

• ชาติอาเซียนเดินหน้าสร้างประชาคม ขณะอียูโยกเยกหลังเบร็กซิท

• อาเซียน : ประชาคมเศรษฐกิจแบบพึ่งพิงทุนจากภายนอก

• ประชาคมการเมือง-ความมั่นคงและ Consensus-X

 

ส่วนอัตลักษณ์ภายใน ควรเป็นเป้าหมายร่วมกันของทั้งประชาคม ที่มุ่งผลักดันให้เกิดการบูรณาการที่มีพื้นฐานอยู่บนการพัฒนาเศรษฐกิจและความมั่นคงมนุษย์ ที่มีการกระจายความมั่งคั่งด้วยแนวคิดที่เคารพสิทธิของคน (right-based society)

"ในทั้งสองเรื่องนี้อาเซียนจะสร้างอย่างไร การวางแผนอย่างเป็นขั้นตอนที่เน้นการสร้างอัตลักษณ์ภายนอกและภายในนี้ น่าจะสร้างได้จากการเน้นการการร่วมมือที่เน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพลเมืองในประชาคม ด้วยการใช้ภาษาทางสังคมหรือมิติทางสังคมที่ให้เกิด caring society ควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจ" ผศ.ดร.มรกต กล่าว

 

ปัญหาในทางปฏิบัติประการหนึ่งคือ สมาชิกหลายประเทศไม่ยอมรับบทบาทของภาคสังคมที่อยู่นอกรัฐ อีกทั้งสมาชิกบางประเทศก็ไม่มีองค์กรหรือสถาบันที่จะรับผิดชอบงานทางด้านสังคมวัฒนธรรมด้วยซ้ำไป การผลักดันภารกิจทางด้านนี้จึงเป็นไปด้วยความยากลำบาก หลายประเทศไม่มีกระทรวงทางด้านสังคม จึงต้องฝากงานเอาไว้กับกระทรวงการต่างประเทศซึ่งมีงานอื่นเต็มมือ

นอกจากนี้ กลุ่มอาเซียนได้รวมเอาเรื่องต่าง ๆ มาไว้ในประชาคมสังคมวัฒนธรรมอย่างมากมาย ตั้งแต่เรื่อง สาธารณสุข ศิลปะ วัฒนธรรม กีฬา สิ่งแวดล้อม ไปจนถึง สิทธิมนุษยชน ในหลายกรณีเป็นลักษณะของการพูดอย่างทำอย่าง ในขณะที่พิมพ์เขียวประชาคมสังคมวัฒนธรรม 2025 ได้กล่าวถึงการคุ้มครองและการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน แต่กลุ่มอาเซียนจัดให้คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนเป็นกลไกของประชาคมการเมืองและการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของอาเซียนนั้นจัดได้ว่าล้มเหลว แต่รัฐบาลทั้ง 10 ประเทศของอาเซียนมีปัญหาสิทธิมนุษยชนพอๆกันกล่าวคือไม่เพียงให้การคุ้มครองสิทธิของประชาชนไม่ได้ หากแต่ยังละเมิดสิทธิมนุษยชนเสียเองอีกมาก

 

ที่มา : BBC